กฏกติกากอล์ฟ - กอล์ฟทิฟ บท 1-5
กฎข้อบังคับในการเล่นกอล์ฟ โดยสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา และเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียน กอล์ฟ คลับ ออฟ เซ็นต์ แอนดรูวส์
แปล และเรียบเรียงโดย สิทธิพร โรจนศิริ กรรมการกฎข้อบังคับ และมรรยาท สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย Member of R&A Referees School 1993 and 1999 (St. Andrews , Scotland and Member of USGA Slope Rating).
การเล่น
กฎข้อ 1 การเล่น
1-1. ทั่วไป
กีฬากอล์ฟประกอบด้วยการเล่นลูกหนึ่งลูกจากแท่นตั้งทีไปลงหลุมด้วยการตีหนึ่งครั้ง หรือหลายครั้งต่อเนื่องกันตามกฎข้อบังคับ
1-2. การทำให้เกิดผลกระทบต่อลูก
ผู้เล่นหรือแคดดี้จะต้องไม่กระทำการใดๆอันมีผลกระทบต่อตำแหน่งหรือการเคลื่อนที่ของลูก เว้นแต่การกระทำภายใต้กฎข้อบังคับเท่านั้น (การเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ให้ดูกฎข้อ 24-1)
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 1-2การเล่นแบบแมทช์เพลย์ - ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
หมายเหตุ ถ้าเป็นการละเมิดกฎข้อ 1-2 อย่างร้ายแรง คณะกรรมการอาจกำหนดให้ปรับโทษด้วยการตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
1-3. การสมยอมเพื่อละเว้นการบังคับใช้กฎข้อบังคับ
ผู้เล่นจะต้องไม่สมยอมกันเพื่อละเว้นการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับใดๆ หรือละเว้นการปรับโทษที่เกิดขึ้น
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 1-3การเล่นแบบแมทช์เพลย์ - ตัดสิทธิ์ทั้งสองฝ่ายจากการแข่งขัน
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ตัดสิทธิ์ผู้เข้าแข่งขันที่เกี่ยวข้องจากการแข่งขัน
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ตัดสิทธิ์ผู้เข้าแข่งขันที่เกี่ยวข้องจากการแข่งขัน
(การสมยอมกันเพื่อเล่นผิดลำดับในการเล่นแบบสโตรคเพลย์ -ดูกฎข้อ 10-2ค )
1-4. เรื่องที่ไม่ได้ครอบคลุมโดยกฎข้อบังคับ
หากเกิดการขัดแย้งในเรื่องใดที่ไม่ได้ครอบคลุมโดยกฎข้อบังคับนี้ การตัดสินจะต้องเป็นไปตามหลักความยุติธรรม
กฎข้อ 2 การเล่นแบบแมทช์เพลย์
2-1. ผู้ชนะของแต่ละหลุม และการคิดผลการเล่นเป็นหลุม
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ คือ การแข่งขันที่นับเป็นหลุม
ฝ่ายที่ชนะ คือ ฝ่ายที่ตีลูกลงหลุมด้วยจำนวนน้อยครั้งกว่าในหลุมใดหลุมหนึ่ง ส่วนในแมทช์ที่ใช้แฮนดี้แคป (handicap แปลว่า แต้มต่อ) ฝ่ายที่ชนะของหลุมนั้นๆคือฝ่ายที่ทำแต้มสุทธิน้อยกว่า เว้นแต่กฎข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การคิดผลการเล่นให้นับโดยใช้คำว่า "นำอยู่ (กี่หลุม)” หรือ "เสมอกันอยู่" และ “ยังเหลือ (อีกกี่หลุม)
ฝ่ายที่ได้ "ดอร์มมี่ (dormie)" คือฝ่ายที่ชนะจำนวนหลุมไปแล้วเท่ากับจำนวนหลุมที่เหลือให้เล่น
2-2. เสมอกันครึ่งหลุม (Halved Hole)
เมื่อแต่ละฝ่ายเล่นจบหลุมใดหลุมหนึ่งด้วยจำนวนการตีที่เท่ากัน ให้เสมอกันโดย ในกรณีที่ผู้เล่นหนึ่งได้เล่นจบหลุมไปแล้วและโดนปรับโทษ โดยฝ่ายตรงข้ามยังต้องเล่นเพื่อเสมอกัน ให้ถือว่าเสมอกันในหลุมนั้น
2-3. ผู้ชนะแมทช์
แมทช์ (ประกอบด้วยรอบที่กำหนด เว้นไว้แต่คณะกรรมการประกาศไว้เป็นอย่างอื่น) ฝ่ายที่ชนะคือ ฝ่ายที่ชนะด้วยจำนวนหลุมที่มากกว่าจำนวนหลุมที่เหลือที่จะต้องเล่น
ในกรณีที่ยังเสมอกัน คณะกรรมการอาจขยายรอบที่กำหนดออกไปอีกกี่หลุมก็ได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้แมทช์ปรากฎผลแพ้ชนะ
2-4. การยอมแพ้ แต้มต่อไป หลุม หรือแมทช์
เมื่อลูกของฝ่ายตรงข้ามหยุดอยู่ หรือถือว่าลูกหยุดแล้วตามกฎข้อ 16-2 ผู้เล่นอาจยินยอมให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ต้องเล่นต่อ และถือว่าฝ่ายตรงข้ามได้เล่นจบหลุมนั้นๆแล้ว และอาจจะนำลูกออกไปโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยไม้กอล์ฟ หรือด้วยวิธีอื่น
ผู้เล่นอาจจะขอยอมแพ้ในหลุมใดหลุมหนึ่งก่อนสิ้นสุดการเล่นหลุมนั้น หรือขอยอมแพ้แมทช์เมื่อใดก็ได้ก่อนสิ้นสุดการเล่นแมทช์ และผู้เล่นไม่อาจปฏิเสธ หรือเพิกถอน การยินยอมให้แต้ม หรือให้ชนะในหลุมใด หรือยอมแพ้การเล่นแมทช์ไปแล้ว
2-5. การอ้างสิทธิ์
ถ้ามีข้อสงสัย หรือมีข้อขัดแย้ง ระหว่างผู้เล่นในการเล่นแบบแมทช์เพลย์ และไม่มีผู้แทนซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการอยู่ในที่นั้นในเวลาอันควร ผู้เล่นจะต้องเล่นต่อไปโดยไม่ชักช้า การอ้างสิทธิ์ใดๆก็ตามซึ่งจะให้คณะกรรมการพิจารณา ต้องกระทำก่อนผู้เล่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เล่นบนแท่นตั้งทีของหลุมต่อไป หรือในกรณีที่เล่นหลุมสุดท้าย จะต้องกระทำก่อนที่ผู้เล่นทุกคนเดินลงจากกรีน
การอ้างสิทธิ์ในภายหลังจะต้องไม่ได้รับการพิจารณา เว้นแต่ว่าการอ้างสิทธิ์นั้นเกิดจากความเป็นจริงที่ผู้อ้างสิทธิ์ไม่ได้ทราบมาก่อน และผู้อ้างสิทธิ์ได้รับข้อมูลผิดพลาดจากฝ่ายตรงข้าม (กฎข้อ 6-2ก และกฎข้อ 9) ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม การอ้างสิทธิ์ภายหลังจากประกาศผลของแมทช์อย่างเป็นทางการแล้ว จะไม่ได้รับการพิจารณา นอกจากว่าคณะกรรมการได้รับการชี้แจงจนเป็นที่พอใจว่าฝ่ายตรงข้ามได้รู้ว่าตนบอกข้อมูลผิดพลาด
2-6. การปรับโทษทั่วไป
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อบังคับในการเล่นแบบแมทช์เพลย์คือ ปรับผู้เล่นเป็นแพ้ในหลุมที่เล่น เว้นแต่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
|
กฎข้อ 3 การเล่นแบบสโตรคเพลย์
3-1. ผู้ชนะ
เมื่อเล่นครบรอบ หรือเล่นครบหลายๆรอบที่กำหนด ผู้เข้าแข่งขันซึ่งทำแต้มได้จากการตีจำนวนน้อยครั้งที่สุดคือผู้ชนะ
3-2. การไม่เล่นลูกให้จบหลุม
ถ้าผู้เข้าแข่งขันไม่เล่นลูกจนจบลงในหลุมใดก็ตาม และไม่แก้ไขความผิดพลาดก่อนการตีบนแท่นตั้งทีของหลุมต่อไป หรือก่อนลงจากกรีนของหลุมสุดท้ายของรอบที่เล่น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
3-3. ข้อสงสัยในการปฏิบัติตามขั้นตอน
ก. การปฏิบัติตามขั้นตอน
เฉพาะในการแข่งขันแบบสโตรคเพลย์เท่านั้น ระหว่างที่เล่นในหลุมใดหลุมหนึ่ง เมื่อผู้เข้าแข่งขันเกิดความสงสัยในสิทธิ์ของตน หรือมีความสงสัยในการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎข้อบังคับ ผู้เข้าแข่งขันอาจใช้ลูกที่สอง เล่นได้อีกหนึ่งลูกโดยไม่มีการปรับโทษ เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น ผู้เข้าแข่งขันควรแจ้งมาร์คเกอร์หรือผู้ร่วมแข่งขัน ก่อนที่จะกระทำการใดๆลงไป ในการตัดสินใจที่จะนำกฎข้อนี้มาใช้ และควรแจ้งว่าจะนับแต้มลูกใดถ้าการปฏิบัติของลูกนั้นถูกต้องตามกฎข้อบังคับ
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องรายงานความเป็นจริงต่อคณะกรรมการก่อนส่งมอบสกอร์การ์ด นอกเสียจากว่าแต้มของทั้งสองลูกเท่ากัน และหากไม่ปฏิบัติตามนี้ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
ข. การกำหนดแต้มของหลุม
ถ้ากฎข้อบังคับอนุญาตให้ปฏิบัติตามขั้นตอนท่ได้เลือกไว้ล่วงหน้าแล้ว จะต้องนับแต้มของลูกที่เลือกไว้เป็นแต้มจริงของหลุมนั้น ถ้าผู้เข้าแข่งขันไม่แจ้งล่วงหน้าในการตัดสินใจที่จะนำกฎข้อนี้มาใช้ หรือไม่แจ้งล่วงหน้าในการเลือกลูกใดลูกหนึ่งของตน จะต้องนับแต้มของลูกเดิม หรือถ้าลูกเดิมไม่ใช่หนึ่งในสองลูกที่กำลังใช้เล่น ลูกแรกที่นำมาใช้เล่นจะต้องนับเป็นแต้มของหลุมนั้น การนับในสองกรณีดังกล่าว จะต้องนับลูกที่กฎข้อบังคับอนุญาตให้ปฏิบัติได้สำหรับการเล่นลูกนั้นๆ
หมายเหตุ 1 ถ้าผู้เข้าแข่งขันเล่นลูกที่สอง ไม่นับแต้มปรับโทษที่เกิดขึ้นเฉพาะการเล่นลูกที่ใช้กฎข้อบังคับตัดสินไปแล้ว และจะต้องไม่คำนึงถึงแต้มที่ทำได้ในภายหลังด้วยลูกนั้น
หมายเหตุ 2 ลูกที่สองที่ใช้เล่นตามกฎข้อ 3-3 นี้ ไม่ใช่เป็นลูกสำรองภายใต้กฎข้อ 27-2
3-4. การปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ
ถ้าผู้เข้าแข่งขันปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ และไปละเมิดสิทธิ์ของผู้เข้าแข่งขันอีกคนหนึ่ง ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
3-5. การปรับโทษทั่วไป
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อบังคับในการเล่นแบบสโตรคเพลย์คือ ปรับสองแต้ม เว้นแต่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ไม้กอล์ฟ และลูกกอล์ฟ
เดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์ แอนดรูวส์ สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับ และในการทำ หรือในการแปลความหมายเกี่ยวกับไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ และอุปกรณ์อื่นๆเมื่อใดก็ได้
|
กฎข้อ 4 ไม้กอล์ฟ
หากผู้เล่นสงสัยว่าไม้กอล์ฟอันใดจะสอดคล้องกับกฎข้อบังคับหรือไม่ ควรปรึกษากับเดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์ แอนด์รูวส์
ผู้ผลิตควรส่งตัวอย่างไม้กอล์ฟที่จะทำการผลิตไปยัง เดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์ แอนดรูวส์ เพื่อวินิจฉัยว่าไม้กอล์ฟนั้นเป็นไปมีคุรลักษณะสอดคล้องกับกฎข้อบังคับหรือไม่ ถ้าผู้ผลิตไม่ส่งตัวอย่างก่อนทำการผลิต และ/หรือก่อนการทำตลาด ให้ถือว่าเป็นการเสี่ยงต่อการวินิจฉัยว่าไม้กอล์ฟนั้นๆไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับ ตัวอย่างใดก็ตามที่ส่งมา จะตกเป็นสมบัติของ เดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์ แอนดรูวส์ เพื่อจุดประสงค์ในการอ้างอิงต่อไป
4-1. รูปแบบ และการทำไม้กอล์ฟ
ก. ทั่วไป
ไม้กอล์ฟของผู้เล่นจะต้องสอดคล้องกับกฎข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อมูลจำเพาะ และการแปลความหมายต่างๆดังที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 2
ข. การสึกหรอ และการดัดแปลง
ไม้กอล์ฟถือว่าสอดคล้องกับกฎข้อบังคับ ตั้งแต่ยังใหม่อยู่จนถึงสึกหรอจากการเล่นตามปกติ และหากส่วนหนึ่งส่วนใดของไม้กอล์ฟได้รับการแก้ไขโดยเจตนา ให้ถือเสมือนว่าเป็นไม้กอล์ฟอันใหม่ และสภาพของไม้ที่ได้รับการแก้ไขนั้น ต้องสอดคล้องกับกฎข้อบังคับ
4-2. ลักษณะการเล่นที่เปลี่ยนไป และวัสดุแปลกปลอม
ก. ลักษณะการเล่นที่เปลี่ยนไป
ระหว่างรอบที่กำหนด ลักษณะต่างๆในการเล่นของไม้ที่ใช้เล่นจะต้องไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยเจตนาด้วยการปรับแต่ง หรือด้วยวิธีอื่นๆ
ข. วัสดุแปลกปลอม
ต้องไม่ใช้วัสดุแปลกปลอมติดกับหน้าไม้ เพื่อจุดประสงค์ในการทำให้เกิดผลต่อการเคลื่อนที่ของลูก
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 4-1 หรือ -2ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
4-3. ไม้กอล์ฟที่เสียหาย การซ่อม และการนำไม้กอล์ฟมาทดแทน
ก. ความเสียหายที่เกิดจากการเล่นตามปกติ
ระหว่างรอบที่กำหนด ถ้าไม้กอล์ฟของผู้เล่นได้รับความเสียหายจากการเล่นตามปกติ ผู้เล่นอาจ
(1) ใช้ไม้ตามสภาพที่เสียหายนั้นต่อไปในช่วงที่เหลือของรอบที่กำหนด หรือ
(2) ซ่อมไม้ได้โดยไม่ทำให้การเล่นชักช้า หรือ
(3) เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มให้เฉพาะไม้ที่ไม่เหมาะที่จะใช้เล่น ให้นำไม้อื่นมาทดแทนได้ ทั้งนี้ การนำไม้อันใดอันหนึ่งมาทด
แทน ต้องไม่ทำให้การเล่นล่าช้า และต้องไม่ใช่การยืมไม้ที่บุคคลอื่นในสนามใช้เล่นอยู่มาแทน
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 4-3ก
ดูข้อความเกี่ยวกับการปรับโทษในกฎข้อ 4-4ก หรือ ข
ดูข้อความเกี่ยวกับการปรับโทษในกฎข้อ 4-4ก หรือ ข
หมายเหตุ ไม้กอล์ฟที่ถือว่าไม่เหมาะที่จะใช้เล่น ถ้าได้รับความเสียหายมาก ยกตัวอย่างเช่น ก้านไม้หัก หรือหัวไม้หลวม หรือหลุด หรือผิดรูปร่าง ไม่ถือว่าไม้ไม่เหมาะที่จะใช้เล่นต่อไปได้ถ้าเพียงแค่ ก้านไม้งอมุมของสันไม้ หรือมุมองศาของหน้าไม้ได้เปลี่ยนไป หรือมีรอยขีดข่วนบนหัวไม้
ข. ความเสียหายนอกเหนือจากการเล่นตามปกติ
ระหว่างรอบที่กำหนด ถ้าไม้ของผู้เล่นได้รับความเสียหายนอกเหนือจากการเล่นตามปกติ ทำให้สภาพของไม้ไม่สอดคล้องกับกฎข้อบังคับ หรือทำให้ลักษณะในการเล่นเปลี่ยนไป ผู้เล่นจะต้องเลิกใช้ไม้นั้นทันที และจะต้องไม่นำไม้อื่นมาแทนไม้อันนั้นในระหว่างรอบ
ค. ความเสียหายก่อนออกรอบ
ผู้เล่นอาจใช้ไม้ที่เสียหายก่อนออกรอบ แต่มีเงื่อนไขว่าไม้ที่อยู่ในสภาพความเสียหายนั้นยังคงสอดคล้องกับกฎข้อบังคับ
ความเสียหายของไม้ที่เกิดขึ้นก่อนออกรอบ อาจได้รับการซ่อมแซมระหว่างรอบ แต่มีเงื่อนไขว่าลักษณะในการเล่นไม่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ทำให้การเล่นล่าช้า
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 4-3ข หรือ ค
ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
(การเล่นช้า ดูกฎข้อ 6-7)
4-4. จำนวนไม้กอล์ฟมากที่สุดสิบสี่อัน
ก. การเลือกไม้ และการเพิ่มจำนวนไม้กอล์ฟ
ผู้เล่นจะต้องเริ่มเล่นรอบที่กำหนดด้วยจำนวนไม้ไม่เกินสิบสี่อัน และจำกัดให้ผู้เล่นใช้ไม้ที่เลือกนำมาใช้เล่นตลอดรอบนั้น ยกเว้นถ้าผู้เล่นเริ่มเล่นด้วยจำนวนไม้น้อยกว่าสิบสี่อัน ให้ผู้เล่นเพิ่มจำนวนไม้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจำนวนไม้ทั้งหมดต้องไม่เกินสิบสี่อัน
การเพิ่มจำนวนไม้กอล์ฟดังกล่าว ต้องไม่ทำให้การเล่นล่าช้า (กฎข้อ 6-7) และต้องไม่ยืมไม้ที่บุคคลอื่นในสนามใช้เล่นอยู่
ข. พาร์ทเน่อร์อาจใช้ไม้กอล์ฟร่วมกัน
พาร์ทเน่อร์อาจใช้ไม้ร่วมกันได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจำนวนไม้ทั้งหมดที่พาร์ทเน่อร์มีอยู่แล้ว รวมกับไม้ที่นำมาใช้ร่วมกันต้องไม่เกินสิบสี่อัน
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 4-4ก หรือ 4-4ข
โดยไม่คำนึงถึงจำนวนไม้ส่วนเกินที่มีอยู่แล้ว
โดยไม่คำนึงถึงจำนวนไม้ส่วนเกินที่มีอยู่แล้ว
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – เมื่อเล่นจบหลุม และพบว่ามีการละเมิด จะต้องปรับสภาพแมทช์เพลย์ โดยปรับหนึ่งหลุมสำหรับแต่ละหลุมที่มีการละเมิด ทั้งนี้ ให้ปรับจำนวนหลุมได้มากที่สุด สองหลุมต่อรอบ
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้มสำหรับแต่ละหลุมที่มีการละเมิด ให้มีโทษปรับสูงสุดเพียง สี่แต้มต่อรอบ
การแข่งขันประเภทโบกี้ พาร์ - การปรับโทษเหมือนการแข่งขันแบบแมทช์เพลย์
การแข่งขันประเภทสเตเบิ้ลฟอร์ด – ดูหมายเหตุ 1 ในกฎข้อ ข้อ 32-1ข
ค. แจ้งไม่ใช้ไม้กอล์ฟส่วนเกินในการเล่น
ไม้กอล์ฟอันใดที่ได้นำไป หรือได้ใช้ และเป็นการละเมิดกฎข้อนี้ ผู้เล่นจะต้องแจ้งยกเลิกการใช้ทันทีเมื่อพบว่าละเมิดกฎข้อบังคับ และหลังจากนั้น ผู้เล่นจะต้องไม่นำมาใช้อีกต่อไปในระหว่างรอบนั้น
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 4-4ค
ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
กฎข้อ 5 ลูกกอล์ฟ
5-1. ทั่วไป
ผู้เล่นจะต้องใช้ลูกกอล์ฟที่สอดคล้องกับข้อกำหนดจำเพาะในภาคผนวก 3
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจกำหนดเงื่อนไขที่ใช้ในการแข่งขัน (กฎข้อ 33-1) ว่าลูกที่ผู้เล่นใช้ ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อลูกกอล์ฟ และสอดคล้องกับลูกกอล์ฟที่ระบุโดย เดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์ แอนดรูวส์ ฉบับปัจจุบัน
5-2. วัสดุ แปลกปลอม
ต้องไม่ใช้วัสดุแปลกปลอมติดกับลูก เพื่อจุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนลักษณะการเล่น
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 5-1 หรือข้อ 5-2ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
5-3. ลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่น
ถ้ามองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าลูกมีรอยแตก รอยร้าว หรือผิดรูปร่าง จึงจะถือว่าเป็นลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่น ส่วนลูกที่มีโคลนหรือวัสดุอื่นติดอยู่ มีรอยขีด หรือมีรอยครูดที่ผิวเปลือก หรือสีกะเทาะ หรือสีจางไป ไม่ถือว่าเป็นลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่น
ถ้าผู้เล่นมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าลูกของตนเป็นลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่นในระหว่างที่กำลังเล่นอยู่ในหลุมนั้น ผู้เล่นอาจหยิบลูกขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูว่าเป็นลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่นต่อหรือไม่ โดยไม่มีการปรับโทษใดๆ
ก่อนหยิบลูก ผู้เล่นต้องประกาศเจตนาของตนต่อฝ่ายตรงข้ามในการเล่นแบบแมทช์เพลย์หรือมาร์คเกอร์ของตน หรือผู้ร่วมแข่งขันในสโตรคเพลย์ และมาร์คตำแหน่งลูก แล้วผู้เล่นอาจหยิบลูกขึ้นมา และตรวจสอบลูกโดยไม่ทำความสะอาดลูก และต้องให้โอกาสฝ่ายตรงข้าม มาร์คเกอร์ หรือผู้ร่วมแข่งขันได้ร่วมตรวจสอบลูกด้วย
ถ้าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ ผู้เล่นจะต้องถูกโทษปรับหนึ่งแต้ม
ถ้าเห็นว่าเป็นลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่นระหว่างการเล่นในหลุมที่กำลังเล่นอยู่ ผู้เล่นอาจนำลูกอีกลูกหนึ่งมาใช้แทนได้ โดยวางไว้แทนที่ตรงจุดที่ลูกเดิมอยู่ หรือมิฉะนั้น จะต้องวางลูกเดิมไว้ที่เดิม
ถ้าผลจากการตี ทำให้ลูกแตกเป็นชิ้น จะต้องยกเลิกการตีโดยไม่มีการปรับโทษ และผู้เล่นจะต้องเล่นลูกใหม่จากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้าย (ดูกฎข้อ 20-5)
*การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 5-3การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
*ถ้าผู้เล่นถูกปรับโทษทั่วไปสำหรับการละเมิดกฎข้อ 5-3 แล้ว จะต้องไม่นำกฎข้อบังคับอื่นมาใช้ในการปรับโทษเพิ่มอีก
หมายเหตุ ในการโต้แย้งการอ้างสิทธิ์สำหรับลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่น ฝ่ายตรงข้าม มาร์คเกอร์ หรือผู้ร่วมแข่งขันจะต้องทำก่อนที่ผู้เล่นจะเล่นอีกลูกหนึ่ง (การทำความสะอาดลูกที่หยิบขึ้นมาจากกรีน หรือภายใต้กฎข้ออื่น - ดูกฎข้อ 21)
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น