กฏกติกากอล์ฟ - กอล์ฟทิฟ บท 21-30


กฏกติกากอล์ฟ - กอล์ฟทิฟ บท 21-30


กฎข้อบังคับในการเล่นกอล์ฟ โดยสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา และเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียน กอล์ฟ คลับ ออฟ เซ็นต์ แอนดรูวส์
แปล และเรียบเรียงโดย สิทธิพร โรจนศิริ กรรมการกฎข้อบังคับ และมรรยาท สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย Member of R&ARefereesSchool 1993 and 1999 (St. AndrewsScotland and Member of USGA Slope Rating).
กฎข้อ 21 การทำความสะอาดลูก
ลูกที่อยู่บนกรีนแล้วอาจหยิบลูกขึ้นทำความสะอาดได้ตามกฎข้อ 16-1 ในอื่นๆผู้เล่นอาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้น ยกเว้นเมื่อหยิบลูกขึ้นในกรณีต่อไปนี้
ก. เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่น (กฎข้อ 5-3)
ข. เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นลูกของผู้เล่น (กฎข้อ 12-2) ในกรณีเช่นนี้ อาจจะทำความสะอาดลูกได้เท่าที่จำเป็น เพียงพอเพื่อการพิสูจน์เท่านั้น หรือ
ค. เป็นลูกที่กีดขวาง หรือช่วยเหลือการเล่น (กฎข้อ 22)
ถ้าผู้เล่นทำความสะอาดลูกของตนระหว่างการเล่นในหลุมใดหลุมหนึ่ง โดยที่กฎข้อนี้ไม่อนุญาตไว้ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม ถ้าได้หยิบลูกขึ้น จะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม
ถ้าผู้เล่นซึ่งกฎข้อบังคับให้นำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม แล้วไม่ปฏิบัติตาม ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 20-3 แต่จะไม่ถูกปรับโทษเพิ่มภายใต้กฎข้อ 21 อีก
ข้อยกเว้น ถ้าผู้เล่นถูกปรับโทษเนื่องจากไม่ทำตามกฎข้อ 5-3 หรือข้อ 12-2 หรือข้อ 22 แล้ว จะต้องไม่ถูกปรับโทษเพิ่มภายใต้กฎข้อ 21 เพิ่มอีก

กฎข้อ 22 ลูกกีดขวาง หรือลูกช่วยเหลือการเล่น
ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดอาจจะ
ก. หยิบลูกของตนขึ้น ถ้าผู้เล่นเห็นว่าลูกนั้นอาจช่วยเหลือผู้เล่นอื่น หรือ
ข. ขอให้หยิบลูกอื่นขึ้น ถ้าผู้เล่นเห็นว่าลูกนั้นอาจกีดขวางการเล่นของตน หรืออาจช่วยเหลือการเล่นของผู้เล่นอื่น
แต่ไม่อาจจะกระทำได้ในขณะที่ลูกอีกลูกหนึ่งกำลังเคลื่อนที่ ส่วนในการเล่นแบบสโตรคเพลย์ ผู้เล่นซึ่งจำเป็นต้องหยิบลูก อาจขอเล่นก่อนแทนการหยิบลูกขึ้น ลูกที่หยิบขึ้นมาภายใต้กฎข้อนี้ จะต้องนำกลับมาวางไว้ที่เดิม
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
หมายเหตุ ยกเว้นบนกรีน ห้ามทำความสะอาดลูกเมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อนี้ – ดูกฎข้อ 21

กฎข้อ 23 ลูสอิมเพดิเม้นท์
นิยามศัพท์
ลูสอิมเพดิเม้นท์ หมายถึง สิ่งร่วงหล่นที่เป็นวัตถุธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ใบไม้ กิ่งไม้ แขนงไม้ และสิ่งที่คล้ายกัน มูลสัตว์ หนอน แมลง และคราบสัตว์ หรือกองมูลสัตว์ โดยมีเงื่อนไขว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไม่ติดตรึง หรือไม่งอกเงยอยู่ หรือไม่ติดอยู่อย่างแน่นหนา และไม่เกาะติดอยู่ที่ลูก
ทราย และเศษดิน เป็นลูสอิมเพดิเม้นท์เฉพาะบนกรีน แต่ไม่ใช่ที่อื่นๆ
หิมะ และน้ำแข็งตามธรรมชาติ เป็นได้ทั้งน้ำชั่วคราว หรือลูสอิมเพดิเม้นท์ แล้วแต่ผู้เล่นจะเลือก ยกเว้นน้ำค้างแข็ง
น้ำแข็งที่ผลิตขายทั่วไปเป็นสิ่งกีดขวาง
น้ำค้าง และน้ำค้างแข็งไม่ใช่ลูสอิมเพดิเม้นท์
23-1. การผ่อนปรน
ผู้เล่นอาจจะเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์ได้โดยไม่มีการปรับโทษ ยกเว้นเมื่อทั้งลูสอิมเพดิเม้นท์ และลูกอยู่ในอุปสรรค หรือสัมผัสกับอุปสรรคในที่เดียวกัน ถ้าลูกเคลื่อนที่ ดูกฎข้อ 18-2
ขณะลูกกำลังเคลื่อนที่ จะต้องไม่เคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์อันอาจจะมีผลต่อการเคลื่อนที่ของลูก
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
(การค้นหาลูกในอุปสรรค – ดูกฎข้อ 12-1)
(การสัมผัสเส้นทางพัต – ดูกฎข้อ 16-1ก)


กฎข้อ 24 สิ่งกีดขวาง
นิยามศัพท์
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด หมายถึง จุดที่ใช้อ้างอิงสำหรับการผ่อนปรนโดยไม่มีการปรับโทษ เมื่อเกิดการติดขัดจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (กฎข้อ 24-2) หรือจากสภาพพื้นที่ผิดปกติ (กฎข้อ25-1) หรือจากผิดกรีน (กฎข้อ 25-3)
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดคือ จุดบนพื้นสนามที่ใกล้กับจุดที่ลูกหยุดอยู่มากที่สุด โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดที่ลูกอยู่ และเมื่อลูกหยุดอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว จะไม่มีการติดขัดเกิดขึ้น (ดังที่ได้กำหนดไว้)
หมายเหตุ ผู้เล่นควรหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้กับลูกที่ตกอยู่มากที่สุด โดยใช้ไม้กอล์ฟที่ผู้เล่นเจตนาจะใช้เล่นต่อไป ทำการจำลองตำแหน่งจรดไม้ และการสวิงเพื่อการตีนั้น
สิ่งกีดขวาง หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่ทำขึ้นมา รวมถึงพื้นผิวถนน ขอบถนน ทางเดิน และน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อขาย ยกเว้น
ก. วัตถุที่กำหนดเขตนอกสนาม เช่น กำแพง รั้ว หลัก หรือราวรั้ว
ข. ส่วนใดๆของสิ่งของที่ทำขึ้นมา และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ที่อยู่ภายนอกสนาม และ
ค. สิ่งปลูกสร้างใดๆที่คณะกรรมการประกาศให้รวมเป็นส่วนเดียวกับสนาม
สิ่งกีดขวางที่ถือว่าเป็นสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้นั้น ต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยไม่ใช้แรงมาก หรือโดยไม่ทำให้การเล่นล่าช้า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย มิฉะนั้น สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจจัดทำกฎสนาม ประกาศให้สิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เป็นสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
24-1. สิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ผู้เล่นอาจจะขอรับการผ่อนปรนจากสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ดังต่อไปนี้
ก. ถ้าลูกไม่อยู่ใน หรือลูกไม่อยู่บนสิ่งกีดขวาง อาจจะนำสิ่งกีดขวางนั้นออกไปได้ ถ้าลูกเคลื่อนที่ จะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ แต่มีเงื่อนไขว่าการเคลื่อนที่ของลูกเกิดจากการนำสิ่งกีดขวางนั้นออกไปโดยตรง นอกเหนือจากนั้นให้ใช้กฎข้อ 18-2
ข. ถ้าลูกอยู่ใน หรืออยู่บนสิ่งกีดขวาง อาจจะหยิบลูกขึ้นได้โดยไม่มีการปรับโทษ และนำสิ่งกีดขวางนั้นออกไป ในบริเวณทั่วพื้นสนาม หรือในอุปสรรค จะต้องดรอปลูก หรือบนกรีน จะต้องวางลูก ใกล้กับจุดที่ใกล้ที่สุดใต้พื้นที่ที่ลูกอยู่ใน หรือลูกอยู่บนสิ่งกีดขวาง โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปอาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อ 24-1
ขณะลูกกำลังเคลื่อนที่ จะต้องไม่นำสิ่งกีดขวางอันอาจมีผลต่อการเคลื่อนที่ของลูกออกไป นอกจากคันธงที่มีผู้เฝ้า หรืออุปกรณ์ของผู้เล่น
(การทำให้เกิดผลกระทบต่อลูก -ดูกฎข้อ 1-2)
หมายเหตุ ถ้าไม่สามารถนำลูกเดิมมาดรอป หรือมาวางภายใต้กฎข้อนี้ อาจจะใช้ลูกอื่นแทนได้
24-2. สิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ก. การติดขัด
การติดขัดจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ใน หรือลูกอยู่บนสิ่งกีดขวาง หรืออยู่ใกล้กับสิ่งกีดขวางมาก และทำให้การยืน หรือพื้นที่ที่ตั้งใจสวิงของผู้เล่นติดขัดกับสิ่งกีดขวางนั้น ถ้าลูกของผู้เล่นอยู่บนกรีน การติดขัดเกิดขึ้นเมื่อสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้บนกรีนอยู่ระหว่างเส้นทางพัต นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่อยู่ระหว่างเส้นทางเล่นไม่ใช่เป็นการติดขัดภายใต้กฎข้อนี้
ข. การผ่อนปรน
ยกเว้นเมื่อลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรืออุปสรรคน้ำด้านข้าง ผู้เล่นอาจขอรับการผ่อนปรน จากการติดขัดโดยสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยไม่มีการปรับโทษ ดังต่อไปนี้
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกอยู่ในบริเวณทั่วพื้นสนาม จะต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุด ที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน
ผู้เล่นจะต้องหยิบลูก และดรอปลูกภายในหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากจุดนั้น และไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดในสนามเพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัด (ตามที่นิยามไว้) จากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ และลูกที่ดรอปไม่เข้าไปอยู่ในอุปสรรค หรือไม่ขึ้นไปบนกรีน
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกอยู่ในบังเกอร์ ผู้เล่นจะต้องหยิบและดรอปลูกตามข้อ (1) ดังกล่าว เว้นแต่ว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด ต้องอยู่ในบังเกอร์ และต้องดรอปลูกในบังเกอร์
(3) บนกรีน ถ้าลูกอยู่บนกรีน ผู้เล่นจะต้องหยิบ และวางลูกตรงตำแหน่งที่ใกล้จุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุด และไม่อยู่ในอุปสรรค จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดอาจจะอยู่นอกกรีนก็ได้ อาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อ 24-2
(ลูกกลิ้งเข้าไปในตำแหน่งที่มีการติดขัดจากที่ที่ได้รับการผ่อนปรน – ดูกฎข้อ 20-2ค(5))
ข้อยกเว้น ผู้เล่นไม่อาจจะขอรับการผ่อนปรนภายใต้กฎข้อ 24-2ข ถ้า (ก) ไม่สมกับเหตุผลอย่างชัดเจนเมื่อไม่สามารถเล่นได้เพราะการติดขัดจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้(ข) การติดขัดโดยสิ่งกีดขวางอาจจะเกิดจาก การเข้าไปยืนในท่ายืนที่ผิดปกติ เกิดจากการสวิงที่ผิดปกติหรือเกิดจากการเล่นในเส้นทางที่ผิดปกติอย่างไม่จำเป็น
หมายเหตุ 1 ถ้าลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้างผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ขอรับการผ่อนปรนจากการติดขัดโดยสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยไม่มีการโทษปรับ ผู้เล่นจะต้องเล่นตามสภาพที่ลูกอยู่ หรือปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
หมายเหตุ 2 ถ้าไม่สามารถนำลูกที่จะดรอป หรือนำลูกที่จะวางภายใต้กฎข้อนี้มาได้ทันที ผู้เล่นอาจจะใช้อีกลูกหนึ่งแทนได้
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจจัดทำกฎสนาม โดยระบุว่าผู้เล่นต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ข้าม ไม่ผ่าน หรือไม่ลอดใต้สิ่งกีดขวางนั้นๆ
ค. ลูกหาย
หากมีข้อสงสัยว่า หลังจากผู้เล่นได้ตีลูกเข้าไปสู่สิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางนั้นหรือไม่ ดังนั้น เพื่อแสดงว่าลูกเข้าไป และลูกหายในสิ่งกีดขวางนั้น จะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อถือได้ว่าลูกเข้าไปในสิ่งกีดขวางนั้น หากขาดพยานหลักฐาน ต้องถือว่าลูกนั้นเป็นลูกหายและต้องใช้กฎข้อ 27
ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จะต้องหาจุดสุดท้ายที่ลูกเข้าไปในสิ่งกีดขวาง และเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กฎข้อนี้ จะต้องถือว่าลูกตกอยู่ที่จุดดังกล่าวนี้
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกเข้าไปที่หายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เป็นจุดสุดท้ายในบริเวณทั่วพื้นสนามผู้เล่นอาจใช้อีก ลูกหนึ่งมาแทนได้โดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 24-2ข(1)
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เป็นจุดสุดท้ายในบังกอร์ ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทน ได้โดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 24-2ข(2)
(3) ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ที่อยู่ในอุปสรรคน้ำ เป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนปรนโดยไม่ถูกปรับโทษ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
(4) บนกรีน ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ที่อยู่บนกรีนเป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทน โดยไม่ถูกปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 24-2ข(3)
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
กฎข้อ 25 สภาพพื้นผิดปกติ ลูกจมในรอยตก และผิดกรีน
นิยามศัพท์
สภาพพื้นที่ผิดปกติ หมายถึง น้ำชั่วคราว พื้นที่ซ่อม หรือหลุม คราบสัตว์ ทางวิ่งของสัตว์ในสนามที่เกิดจากสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง สัตว์เลื้อยคลาน หรือนก
สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง หมายถึง สัตว์ที่ขุดรู หรือสัตว์ที่ทำรังเป็นที่อาศัย เช่น กระต่าย ตัวตุ่น หมูตอน หรือกิ้งก่า
หมายเหตุ หลุมที่ขุดโดยสัตว์ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในโพรง เช่น สุนัข ไม่ถือว่าเป็นสภาพพื้นที่ผิดปกติ เว้นแต่จะมีการทำเครื่องหมายระบุไว้ หรือประกาศไว้ให้เป็นสภาพพื้นที่ผิดปกติ
น้ำชั่วคราว หมายถึง พื้นที่ในสนามที่มีน้ำขังสะสมชั่วคราวที่สามารถเห็นได้ทั้งก่อน หรือหลังจากผู้เล่นเข้าไปทำการยืน และไม่อยู่ในอุปสรรคน้ำ สำหรับหิมะและนำแข็งธรรมชาติเป็นได้ทั้งน้ำชั่วคราว หรือเป็นลูซอิมเพดดิเมนท์ โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้เล่น ส่วนน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อขายทั่วไปถือเป็นสิ่งกีดขวาง ลูกอยู่ในน้ำชั่วคราวเมื่อลูกอยู่ในน้ำชั่วคราว หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับน้ำชั่วคราวส่วนน้ำค้างและน้ำค้างแข็งไม่ถือเป็นน้ำชั่วคราว
พื้นที่ซ่อม หมายถึง ส่วนใดๆของสนามที่ทำเครื่องหมายไว้โดยคำสั่งคณะกรรมการ หรือประกาศโดยผู้แทนซึ่งได้รับอนุญาต ให้พื้นที่ซ่อมรวมถึงกองวัสดุที่จะทำการขนย้ายออกไป และรวมถึงหลุมที่ทำขึ้นโดยผู้ดูแลสนาม แม้ว่าไม่ได้ทำเครื่องหมายไว้
พื้นที่ทั้งหมด และสิ่งอื่นๆที่งอกเงยอยู่ในพื้นที่ซ่อม เช่น หญ้า พุ่มไม้ หรือต้นไม้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ซ่อม ขอบเขตของพื้นที่ซ่อมวัดดิ่งลงไปในแนวตั้งฉากกับพื้น แต่ไม่ต่อเนื่องขึ้นด้านบน ส่วนเสาหลัก และเส้นที่กำหนดพื้นที่ซ่อมให้อยู่ในพื้นที่ซ่อม เสาหลักและเส้นที่ระบุพื้นที่ซ่อมดังกล่าวเป็นสิ่งกีดขวาง ลูกอยู่ในพื้นที่ซ่อมเมื่อลูกอยู่ในเขต หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับพื้นที่ซ่อม
หมายเหตุ 1 เศษหญ้าที่ตัดทิ้งไว้ และวัสดุอื่นๆที่ถูกกองทิ้งไว้ในสนาม และไม่มีเจตนาจะเคลื่อนย้ายออกไปจากสนาม ไม่ถือว่าเป็นพื้นที่ซ่อม เว้นแต่จะทำเครื่องหมายไว้
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจออกกฎสนามเพื่อห้ามเล่นในพื้นที่ซ่อม หรือในบริเวณที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่ซ่อม
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด หมายถึง จุดที่ใช้อ้างอิงสำหรับการผ่อนปรนโดยไม่มีการปรับโทษ เมื่อเกิดการติดขัดจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (กฎข้อ 24-2) หรือจากสภาพพื้นที่ผิดปกติ (กฎข้อ25-1) หรือจากการเล่นผิดกรีน (กฎข้อ 25-3)
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดคือ จุดบนพื้นสนามที่ใกล้กับจุดที่ลูกหยุดอยู่มากที่สุด โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดที่ลูกอยู่ และเมื่อลูกหยุดอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว จะไม่มีการติดขัดเกิดขึ้น (ดังที่ได้กำหนดไว้)
หมายเหตุ ผู้เล่นควรหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้กับลูกที่ตกอยู่มากที่สุด โดยใช้ไม้กอล์ฟที่ผู้เล่นเจตนาจะใช้เล่นต่อไป ทำการจำลองตำแหน่งจรดไม้ และการสวิงเพื่อการตีนั้น
ผิดกรีน หมายถึง กรีนใดก็ตามนอกเหนือจากกรีนของหลุมที่กำลังเล่นอยู่ เว้นแต่คณะกรรมการระบุให้เป็นอย่างอื่น นิยามนี้ให้มีความหมายรวมถึงกรีนซ้อมพัต หรือกรีนซ้อมพิทช์ในสนาม
25-1. สภาพพื้นที่ผิดปกติ
ก. การติดขัด
การติดขัดจากสภาพพื้นที่ผิดปกติ เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ใน หรือลูกสัมผัสกับสภาพดังกล่าว หรือเมื่อสภาพเช่นนั้นทำให้การยืนหรือพื้น
ที่ตั้งใจสวิงของผู้เล่นติดขัด ถ้าลูกของผู้เล่นอยู่บนกรีน การติดขัดเกิดขึ้นเมื่อสภาพเช่นนั้นอยู่ระหว่างเส้นทางพัต นอกเหนือจากนั้น สภาพพื้นที่ผิดปกติที่ขวางอยู่ระหว่างเส้นทางเล่น ไม่ใช่เป็นการติดขัดภายใต้กฎข้อนี้
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจจัดทำกฎสนาม เพื่อห้ามการผ่อนปรนในกรณีที่ผู้เล่นต้องยืนในสภาพพื้นที่ผิดปกติเพื่อเล่น
ข. การผ่อนปรน
ยกเว้นเมื่อลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรืออุปสรรคน้ำด้านข้าง ผู้เล่นอาจขอรับการผ่อนปรนในการติดขัดจากสภาพพื้นที่ผิดปกติดังต่อไปนี้
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกอยู่ในบริเวณทั่วพื้นสนาม จะต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน
ผู้เล่นจะต้องหยิบลูก และดรอปลูกภายในหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากจุดนั้น และไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดในสนาม เพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัด (ตามที่นิยามไว้) จากสภาพนั้น และไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน โดยไม่มีการปรับโทษ
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกอยู่ในบังเกอร์ ผู้เล่นจะต้องหยิบ และดรอปลูก
(ก) โดยไม่มีการปรับโทษตามข้อ (1) ดังกล่าว เว้นแต่ว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดต้องอยู่ในบังเกอร์และผู้เล่นต้องดรอปลูกในบังเกอร์ หรือถ้าการผ่อนปรนทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ต้องดรอปลูกในบังเกอร์ใกล้เท่าที่เป็นไปได้ และไม่ใกล้หลุมเข้าไปเพื่อให้ได้รับการผ่อนปรนจากสภาพนั้นๆมากที่สุดเท่าที่ให้ได้ หรือ
(ข) ดรอปลูกนอกบังเกอร์ โดยใช้แนวจากลูกไปสู่หลุม ถอยไปทางด้านหลังบังเกอร์ไกลเท่าใดก็ได้ และอาจจะดรอปลูกในแนวนั้นโดยถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม
(3) บนกรีน ถ้าลูกอยู่บนกรีน ผู้เล่นจะต้องหยิบลูก และวางลูกตรงตำแหน่งที่ใกล้จุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือถ้าการผ่อนปรนทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ให้หาจุดใกล้ลูกที่สุดที่จะได้รับการผ่อนปรนมากที่สุดเท่าที่มี จุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุด หรือการผ่อนปรนมากที่สุดอาจจะอยู่นอกกรีนก็ได้อาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อ 24-2
(ลูกกลิ้งเข้าไปในตำแหน่งที่มีการติดขัดจากสภาพที่ได้รับการผ่อนปรน – ดูกฎข้อ 20-2ค(5))
ข้อยกเว้น ผู้เล่นไม่อาจจะได้รับการผ่อนปรนภายใต้กฎข้อ 25-1 ถ้า (ก) ไม่สมกับเหตุผลอย่างชัดเจนเมื่อไม่สามารถเล่นได้เพราะการติดขัดจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากสภาพพื้นผิดปกติ หรือ (ข) การติดขัดจากสภาพเช่นนั้นอาจจะเกิดจากการเข้าไปยืนในท่ายืนที่ผิดปกติ เกิดจากการสวิงที่ผิดปกติ หรือเกิดจากเส้นทางเล่นที่ผิดปกติอย่างไม่จำเป็น
หมายเหตุ ถ้าลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้างผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนปรนจากสภาพพื้นที่ผิดปกติโดยไม่มีการปรับโทษ ผู้เล่นจะต้องเล่นตามสภาพที่ลูกอยู่ (นอกจากกฎสนามห้ามเล่น) หรือปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
หมายเหตุ 2 ถ้าไม่ไม่สามารถนำลูกที่จะดรอป หรือนำลูกที่จะวางภายใต้กฎข้อนี้มาได้ ผู้เล่นอาจจะใช้อีกลูกหนึ่งแทนได้
ค. ลูกหาย
หากมีข้อสงสัยว่าหลังจากตีลูกเข้าไปสู่สภาพพื้นที่ผิดปกติ ลูกเข้าไปหายในสภาพเช่นนั้นหรือไม่ ดังนั้น เพื่อแสดงว่าลูกเข้าไป และหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติ จะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่เชื่อถือได้ว่าลูกเข้าไปในนั้น หากขาดพยานหลักฐาน จึงต้องถือว่าลูกนั้นเป็นลูกหาย และต้องใช้กฎข้อ 27
ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติ จะต้องหาจุดสุดท้ายที่ลูกเข้าไปในสภาพนั้น และเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กฎข้อนี้ จะต้องถือว่าลูกตกอยู่ตรงจุดสุดท้ายที่ได้เข้าไป
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติในบริเวณทั่วพื้นสนามเป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทนได้ โดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 25-1ข(1)
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติในบังเกอร์เป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทนโดยไม่มีการปรับ โทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 25-1ข(2)
(3) ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติที่อยู่ในอุปสรรคน้ำเป็นจุดสุดท้าย ผู้ เล่นไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนโดยไม่ถูกปรับโทษ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
(4) บนกรีน ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติบนกรีนเป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทนโดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 25-1ข(3)
25-2. ลูกจม
ลูกจมในรอยตกของมันเองบนพื้นในบริเวณหญ้าตัดเรียบทั่วพื้นสนาม ผู้เล่นอาจจะหยิบลูก ทำความสะอาด และดรอปลูกใกล้เท่าที่เป็นไปได้กับจุดที่ลูกตก และไม่ใกล้หลุมกว่าเดิมโดยไม่มีการปรับโทษ ลูกที่ดรอปต้องกระทบส่วนของพื้นสนามในบริเวณทั่วพื้นสนาม สำหรับคำว่า “ในบริเวณหญ้าตัดเรียบ” หมายถึงพื้นที่ใดๆในสนาม รวมถึงแนวรัฟที่ได้ตัดมีความสูงของหญ้าเท่ากับ หรือสั้นกว่าหญ้าบนแฟร์เวย์
25-3. ผิดกรีน
ก. การติดขัด
การติดขัดในการเล่นบนผิดกรีน เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่บนผิดกรีน
การติดขัดโดยการยืนของผู้เล่น หรือพื้นที่ตั้งใจสวิง ไม่ใช่เป็นการติดขัดภายใต้กฎข้อนี้
ข. การผ่อนปรน
ถ้าผู้เล่นเกิดการติดขัดจากการขึ้นผิดกรีน ผู้เล่นต้องทำการผ่อนปรนโดยไม่มีการปรับโทษ ดังต่อไปนี้
จะต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกมากที่สุด ที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน ผู้เล่นจะต้องหยิบลูกและดรอปภายในหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากจุดนั้น และไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดในสนามเพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัด (ตามที่กำหนดไว้) จากสภาพนั้น และไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน โดยไม่มีการปรับโทษ
ผู้เล่นอาจจะทำความสะอาดลูกเมื่อหยิบขึ้นมาได้
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม

กฎข้อบังคับในการเล่นกอล์ฟ โดยสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา และเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียน กอล์ฟ คลับ ออฟ เซ็นต์ แอนดรูวส์
แปล และเรียบเรียงโดย สิทธิพร โรจนศิริ กรรมการกฎข้อบังคับ และมรรยาท สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย Member of R&ARefereesSchool 1993 and 1999 (St. AndrewsScotland and Member of USGA Slope Rating).
กฎข้อ 26 อุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้าง)
นิยามศัพท์
อุปสรรคน้ำ หมายถึง ทะเล ทะเลสาบ บ่อน้ำ แม่น้ำ ร่องน้ำ รางระบายน้ำ หรือเส้นทางน้ำไหลเปิดไปสู่ที่อื่น (ไม่ว่ามีน้ำอยู่หรือไม่) และสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
พื้นที่ หรือน้ำทั้งหมดที่อยู่ภายในเขตอุปสรรคน้ำ เป็นส่วนของอุปสรรคน้ำ ขอบเขตของอุปสรรคน้ำขยายต่อเนื่องในแนวตั้งฉากกับพื้นทั้งขึ้นและลง สำหรับเสาหลัก และเส้นที่ใช้กำหนดเขตอุปสรรคน้ำถือว่าอยู่ในอุปสรรคน้ำ เสาหลักดังกล่าวเป็นสิ่งกีดขวาง ลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำเมื่อลูกทั้งลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับอุปสรรคน้ำ
หมายเหตุ 1 ควรกำหนดเขตอุปสรรคน้ำ (นอกจากอุปสรรคน้ำด้านข้างด้วยหลัก หรือเส้นสีเหลือง
หมายเหตุ 2 คณะกรรมการอาจออกกฎสนาม ห้ามเล่นในบริเวณที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้เป็นอุปสรรคน้ำ
อุปสรรคน้ำด้านข้าง หมายถึง อุปสรรคน้ำ หรือส่วนของอุปสรรคน้ำที่อยู่ในพื้นที่ที่คณะกรรมการถือว่าการดรอปลูกหลังน้ำตามกฎข้อ 26-1ข เป็นไปไม่ได้ หรือไม่สามารถปฏิบัติได้
ควรจะทำเครื่องหมายของอุปสรรคน้ำที่จะเล่นเป็นอุปสรรคน้ำด้านข้างให้แตกต่างกัน ลูกถือว่าอยู่ในอุปสรรคน้ำด้านข้างเมื่อลูกอยู่ใน หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับอุปสรรคน้ำด้านข้าง
หมายเหตุ 1 ควรจะกำหนดอุปสรรคน้ำด้านข้าง ด้วยเสาหลัก หรือเส้นสีแดง
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจออกกฎสนาม ห้ามเล่นในบริเวณที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้เป็นอุปสรรคน้ำด้านข้าง
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจกำหนดอุปสรรคน้ำด้านข้างให้เป็นอุปสรรคน้ำ
26-1. ลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ
หากมีข้อสงสัยว่าหลังจากผู้เล่นตีลูกเข้าไปในอุปสรรคน้ำ ลูกเข้าไปหายในอุปสรรคน้ำ หรือหายนอกอุปสรรคน้ำหรือไม่ ดังนั้น เพื่อแสดงว่าลูกหายในอุปสรรคน้ำ จึงต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อถือได้ว่าลูกเข้าไปอยู่ในอุปสรรคน้ำ หากขาดพยานหลักฐาน จึงต้องถือว่าลูกนั้นเป็นลูกหาย และต้องใช้กฎข้อ 27
ถ้าลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรือลูกหายในอุปสรรคน้ำ (ไม่ว่าลูกอยู่ในน้ำหรือไม่) ผู้เล่นจะถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และอาจจะ
ก. เล่นลูกใกล้เท่าที่เป็นไปได้จากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้าย (ดูกฎข้อ 20-5) หรือ
ข. ดรอปลูกหลังน้ำ โดยเล็งตรงขอบของอุปสรรคในจุดสุดท้ายที่ลูกเดิมข้ามไปตกน้ำไปยังหลุม ถอยหลังไปไกลเท่าใดก็ได้หลังอุปสรรคน้ำ แล้วอาจดรอปลูกในแนวนี้ หรือ
ค. มีทางเลือกเพิ่มเติมในกรณีลูกข้ามขอบอุปสรรคน้ำด้านข้างเท่านั้น โดยให้ดรอปลูกนอกอุปสรรคน้ำภายในสองช่วงไม้กอล์ฟ ไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่า (1) จุดที่ลูกเดิมข้ามขอบของอุปสรรคน้ำครั้งสุดท้าย หรือ (2) จุดที่ขอบฝั่งตรงข้ามของอุปสรรคน้ำที่มีระยะทางจากหลุมเท่ากัน ผู้เล่นอาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้น
(ลูกเคลื่อนที่ในน้ำที่เป็นอุปสรรคน้ำ - ดูกฎข้อ 14-6)
26-2. ลูกที่เล่นในอุปสรรคน้ำ
ก. ลูกมาหยุดอยู่ในอุปสรรค
ถ้าลูกที่เล่นภายในอุปสรรคน้ำ แล้วลูกมาหยุดอยู่ในอุปสรรคน้ำเดียวกัน ผู้เล่นอาจจะ
(1) ปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1 หรือ
(2) เล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้ายนอกเขตอุปสรรค (ดูกฎข้อ 20-5) โดยถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม ถ้าผู้เล่นปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1ก ผู้เล่นอาจจะเลือกไม่เล่นลูกที่ดรอปก็ได้ ถ้าผู้เล่นเลือกที่จะทำเช่นนี้ ผู้เล่นอาจจะ
(ก) ปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1 โดยปรับโทษเพิ่มอีกหนึ่งแต้มตามที่ระบุไว้ในกฎข้อนั้น หรือ
(ข) ปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1ค ถ้านำกฎข้อนี้มาใช้ได้ ให้ปรับโทษเพิ่มอีกหนึ่งแต้มตามที่ระบุไว้ในกฎข้อนั้นหรือ
(ค) เล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้ายนอกอุปสรรค(ดูกฎข้อ 20-5) โดยปรับโทษเพิ่มอีกหนึ่งแต้ม
ข. ลูกหาย หรือที่ไม่สามารถเล่นได้นอกอุปสรรค หรือลูกออกนอกเขตสนาม
ถ้าลูกที่เล่นจากอุปสรรคน้ำออกไป แล้วลูกหายนอกอุปสรรค หรือประกาศว่าเป็นลูกที่ไม่สามารถเล่นได้นอกอุปสรรคน้ำ หรือลูกออกนอกสนาม ผู้เล่นถูกปรับโทษหนึ่งแต้มตามกฎข้อ 27-1 หรือ 28 และผู้เล่นอาจจะ
1.        เล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้ายภายในอุปสรรคน้ำ (ดูกฎข้อ 20-5)หรือ
2.        ปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1 หรือถ้าสามารถใช้กฎข้อ 26-1ค ก็ให้ปฏิบัติ โดยปรับโทษเพิ่มอีกหนึ่งแต้มตามที่ระบุในกฎข้อนั้น และใช้จุดอ้างอิงของลูกเดิมที่ข้ามขอบอุปสรรคน้ำครั้งสุดท้าย ก่อนลูกเข้ามาหยุดอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรือ
3.        เล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้ายนอกอุปสรรคน้ำ(ดูกฎข้อ 20-5) โดยปรับโทษเพิ่มอีกหนึ่งแต้ม
หมายเหตุ 1 เมื่อปฏิบัติตามกฎข้อ 26-2 ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องดรอปลูกตามกฎข้อ 27-1 หรือกฎข้อ 28ก ถ้าผู้เล่นดรอปลูก ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องเล่นก็ได้ ผู้เล่นอาจจะเลือกปฏิบัติตามข้อ (2) หรือข้อ (3)
หมายเหตุ 2 ถ้าลูกที่เล่นจากอุปสรรคออกไปแล้ว ผู้เล่นประกาศว่าเป็นลูกที่ไม่สามารถเล่นได้นอกอุปสรรคน้ำ กฎข้อ 26-2 ไม่ได้ตัดสิทธิ์ผู้เล่นในการปฏิบัติตามกฎข้อ 28ข หรือ ค
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ - ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสอง
กฎข้อ 27 ลูกหาย หรือลูกออกนอกเขตสนาม และลูกสำรอง
นิยามศัพท์
ถือว่า ลูกหาย ถ้า
ก. ค้นหาลูกไม่พบ หรือไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นลูกของตนโดยผู้เล่นเองภายในเวลาห้านาที หลังจากฝ่ายของผู้เล่น หรือผู้เล่น หรือแคดดี้ของฝ่ายผู้เล่น หรือของผู้เล่นได้เริ่มต้นค้นหาลูก หรือ
ข. ผู้เล่นได้ใช้อีกลูกหนึ่งมาเล่นแทนตามกฎข้อบังคับ และผู้เล่นอาจจะไม่ได้ไปค้นหาลูกเดิม หรือ
ค. ผู้เล่นตีลูกสำรองจากแหล่งที่คาดว่าลูกเดิมหยุดอยู่ในที่นั้น หรือจากจุดที่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าแหล่งดังกล่าว ลูกสำรองนั้นจะกลายเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น 
เวลาที่ใช้ในการเล่นลูกผิดจะไม่นับรวมเข้าไปกับเวลาห้านาทีที่อนุญาตให้ค้นหาลูก
เขตนอกสนาม (Out of Bounds)
เขตนอกสนาม” หมายถึง พื้นที่ที่อยู่เลยเขตของสนาม หรือเลยส่วนอื่นใดของสนามที่คณะกรรมการทำเครื่องหมายไว้
เมื่อเขตนอกสนามถูกกำหนดโดยการอ้างอิงเสาหลัก หรือรั้ว หรือเมื่อเลยเสาหลัก หรือรั้วออกไป เส้นเขตแนวนอกสนามจะกำหนดโดยการวัดที่จุดด้านในที่สุดบนพื้นระหว่างเสาหลัก หรือแนวรั้วของสนาม โดยไม่รวมส่วนที่พยุงเสารั้วนั้นๆ
ให้ถือว่าวัสดุที่ใช้กำหนดแนวนอกสนาม เช่น กำแพง รั้ว เสาหลัก หรือราวรั้ว เป็นสิ่งติดตรึงอยู่กับที่ และไม่ใช่เป็นสิ่งกีดขวาง
เมื่อเขตนอกสนามกำหนดโดยเส้นบนพื้น ให้ถือว่าเส้นนั้นอยู่นอกสนามด้วย
เส้นระบุเขตนอกสนามขยายต่อเนื่องในแนวตั้งฉากกับพื้นทั้งขึ้นและลง
ให้ถือว่าลูกออกนอกเขตสนาม เมื่อทุกส่วนของลูกอยู่นอกเขตสนาม
ผู้เล่นอาจจะยืนอยู่นอกสนาม เพื่อเล่นลูกที่อยู่ในสนามได้
ลูกสำรอง หมายถึง ลูกที่ใช้เล่นภายใต้กฎข้อ 27-2 สำหรับลูกที่อาจจะหายนอกอุปสรรคน้ำ หรืออาจจะออกนอกสนาม
27-1. ลูกหาย หรือลูกออกนอกเขตสนาม
ถ้าลูกหาย หรือลูกออกนอกสนาม ผู้เล่นจะต้องเล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้าย (ดูกฎข้อ 20-5) โดยถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม
ข้อยกเว้น
1. ถ้ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่เชื่อได้ว่าลูกเดิมหายในอุปสรรคน้ำ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
2. ถ้ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่เชื่อได้ว่าลูกเดิมหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (กฎข้อ24-2ค) หรือหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติ (กฎข้อ 25-1ค) ผู้เล่นอาจจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่สามารถนำมาใช้ได้
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 27-1การเล่นแบบแมทช์เพลย์ - ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
27-2. ลูกสำรอง
ก. วิธีปฏิบัติ
ถ้าลูกอาจจะหายนอกอุปสรรคน้ำ หรือลูกอาจจะออกนอกสนาม เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ผู้เล่นอาจจะเล่นลูกอีกลูกหนึ่งสำรองไปก่อน โดยเล่นจากจุดที่ใกล้เท่าที่เป็นไปได้จากจุดเดิม ตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อ 27-1 โดยผู้เล่นจะต้องแจ้งฝ่ายตรงข้ามในการเล่นแบบแมทช์เพลย์ หรือมาร์คเกอร์ หรือผู้ร่วมแข่งขันของตนในการเล่นแบบสโตรคเพลย์ว่าตั้งใจที่จะเล่นลูกสำรอง และจะต้องเล่นก่อนที่ผู้เล่น หรือพาร์ทเน่อร์ของตนไปค้นหาลูกเดิม ถ้าผู้เล่นไม่ทำดังที่กล่าวไว้ ลูกนั้นไม่ถือว่าเป็นลูกสำรอง แต่กลายมาเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น โดยถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และถูกปรับโทษเรื่องระยะทางด้วย (กฎข้อ 27-1) และให้ถือว่าลูกเดิมเป็นลูกหาย
(ลำดับการเล่นบนแท่นตั้งที ดูกฎข้อ 10-3)
ข. เมื่อลูกสำรองกลายมาเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น
ผู้เล่นอาจจะเล่นลูกสำรองต่อไปจนกระทั่งถึงแหล่งที่คาดว่าลูกเดิมอยู่ ถ้าผู้เล่นตีลูกสำรองจากจุดที่เข้าไปใกล้หลุมมากกว่าแหล่งที่คาดว่าลูกเดิมอยู่ ให้ถือว่าลูกเดิมเป็นลูกหาย และให้ถือว่าลูกสำรองเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น โดยถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และถูกปรับโทษเรื่องระยะทางด้วย (กฎข้อ 27-1)
ถ้าลูกเดิมหายนอกอุปสรรคน้ำ หรือออกนอกสนาม ให้ถือว่าลูกสำรองเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น โดยถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และถูกปรับโทษเรื่องระยะทางด้วย (กฎข้อ 27-1)
ถ้ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่เชื่อได้ว่าลูกเดิมหายในอุปสรรคน้ำ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
ข้อยกเว้น ถ้ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่เชื่อได้ว่าลูกเดิมหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้(กฎข้อ 24-2ค) หรือหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติ (กฎข้อ 25-1ค) ผู้เล่นอาจจะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้องนั้นได้
ค. เมื่อต้องยกเลิกลูกสำรอง
ถ้าลูกเดิมไม่หาย หรือไม่ออกนอกสนาม ผู้เล่นจะต้องยกเลิกลูกสำรอง และเล่นลูกเดิมต่อไป ถ้าผู้เล่นไม่ทำดังที่กล่าวไว้ การตีลูกต่อไปด้วยลูกสำรองจะต้องเป็นการเล่นผิดลูก และจะต้องใช้ข้อกำหนดในกฎข้อ 15
หมายเหตุ จะต้องไม่คิดแต้ม และแต้มปรับโทษที่เกิดขึ้นในการเล่นลูกสำรองหลังจากถูกยกเลิกไปแล้วตามกฎข้อ 27-2
กฎข้อ 28 ลูกที่ไม่สามารถเล่นได้
ผู้เล่นอาจประกาศว่าลูกของตนเป็นลูกเล่นที่ไม่สามารถเล่นได้ในที่ใดๆในสนาม ยกเว้นเมื่อลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ ผู้เล่นแต่ผู้เดียวเท่านั้นคือผู้ที่ตัดสินว่าลูกของตนนั้นเป็นลูกที่ไม่สามารถเล่นได้หรือไม่
ถ้าผู้เล่นถือว่าลูกของตนเป็นลูกที่ไม่สามารถเล่นได้ ผู้เล่นถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และต้อง
ก. เล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้าย (ดูกฎข้อ 20-5) หรือ
ข. ดรอปลูกภายในสองช่วงไม้กอล์ฟจากจุดที่ลูกเดิมหยุดอยู่ และไม่ใกล้หลุมเข้าไปหรือ
ค. ดรอปลูกด้านหลังจุดที่ลูกอยู่ โดยเล็งด้านหลังลูกเป็นแนวตรงไปสู่หลุม และจะถอยหลังไปไกลเท่าใดก็ได้
ถ้าลูกที่ไม่สามารถเล่นได้อยู่ภายในบังเกอร์ ผู้เล่นอาจปฏิบัติตามข้อ ก. หรือข้อ ข. หรือข้อ ค. หากผู้เล่นเลือกที่จะปฏิบัติตามข้อ ข. หรือข้อ ค. ผู้เล่นต้องดรอปลูกในบังเกอร์
ผู้เล่นอาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อนี้
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ - ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม

วิธีการเล่นแบบอื่นๆ
กฎข้อ 29 การเล่นประเภททรีซั่มส์ และโฟร์ซั่มส์
นิยามศัพท์
การเล่นประเภททรีซั่มส์ หมายถึง การเล่นแบบแมทช์เพลย์ ระหว่างฝ่ายผู้เล่นหนึ่งคนกับฝ่ายผู้เล่นสองคน แต่ละฝ่ายใช้ลูกฝ่ายละหนึ่งลูก
การเล่นประเภทโฟร์ซั่มส์ หมายถึง การเล่นแบบแมทช์เพลย์ ระหว่างผู้เล่นสองฝ่ายๆละสองคน แต่ละฝ่ายใช้ลูกฝ่ายละหนึ่งลูก
29-1. ทั่วๆไป
ระหว่างรอบที่กำหนด ในการเล่นประเภททรีซั่มส์ และโฟร์ซั่มส์ พาร์ทเน่อร์จะต้องสลับกันตีคนละครั้ง จากแท่นตั้งที และสลับกันตีระหว่างการเล่นในแต่ละหลุม แต้มปรับโทษต่างๆไม่มีผลต่อลำดับการเล่น
29-2. การเล่นแบบแมทช์เพลย์
ถ้าผู้เล่นได้เล่น เมื่อพาร์ทเน่อร์อยู่ในลำดับที่ควรได้เล่น ฝ่ายของผู้เล่นจะต้องถูกปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
29-3. การเล่นแบบสโตรคเพลย์
ในการเล่นผิดลำดับ ถ้าพาร์ทเน่อร์ตีลูกครั้งเดียวหรือหลายครั้ง จะต้องยกเลิกการตีครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ฝ่ายนั้นจะต้องถูกปรับสองแต้ม ฝ่ายนั้นจะต้องแก้ไขความผิดพลาด โดยเล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นผิดลำดับในครั้งแรก (ดูกฎข้อ 20-5) ให้ถูกลำดับการเล่น ถ้าฝ่ายนั้นตีลูกจากแท่นตั้งทีของหลุมต่อไป โดยไม่แก้ไขความผิดพลาดให้ถูกต้อง หรือในกรณีของหลุมสุดท้าย ไม่ประกาศเจตนาแก้ไขความผิดพลาดก่อนลงจากกรีน ฝ่ายนั้นจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน


กฎข้อ 30 การเล่นแบบแมทช์เพลย์ประเภททรีบอล เบสท์บอล และโฟร์บอล
นิยามศัพท์
ทรีบอล หมายถึง การเล่นแบบแมทช์เพลย์ ระหว่างสามคน แต่ละคนเล่นลูกของตน และเล่นคนละสองแมทช์
เบสท์บอล หมายถึง การเล่นแบบแมทช์เพลย์ ระหว่างผู้เล่นหนึ่งคน และนับลูกที่ดีกว่าของผู้เล่นสองคนหรือนับลูกที่ดีที่สุดของผู้เล่นสามคน
โฟร์บอล หมายถึง การเล่นแบบแมทช์เพลย์ เล่นระหว่างผู้เล่นฝ่ายละสองคน และนับลูกที่ดีกว่าของฝ่ายหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง
30-1. การใช้กฎข้อบังคับกีฬากอล์ฟ
จะต้องนำกฎข้อบังคับกีฬากอล์ฟมาใช้ในการเล่นแบบแมทช์เพลย์ประเภททรีบอล เบสท์บอล และโฟร์บอล เท่าที่ไม่มีความแตกต่างไปจากกฎข้อบังคับพิเศษต่อไปนี้
30-2. การเล่นแบบแมทช์เพลย์ประเภททรีบอล
ก. ลูกที่หยุดอยู่เคลื่อนที่โดยฝ่ายตรงข้าม
ยกเว้นกรณีที่กฎข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าฝ่ายตรงข้าม หรือแคดดี้ หรืออุปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม ไปสัมผัส หรือทำให้ลูกของผู้เล่นเคลื่อนที่นอกเหนือจากระหว่างการค้นหาลูก จะต้องปรับโทษฝ่ายตรงข้ามคนนั้นหนึ่งแต้มในแมทช์ให้แก่ผู้เล่น แต่ไม่มีผลกับฝ่ายตรงข้ามคนอื่น
ข. ฝ่ายตรงข้ามทำให้ลูกเฉไป หรือหยุดโดยบังเอิญ
ถ้าฝ่ายตรงข้าม หรือแคดดี้ หรืออุปกรณ์ของฝ่ายตรงข้ามทำให้ลูกของผู้เล่นเฉไป หรือหยุดโดยบังเอิญ จะไม่ถูกปรับโทษในการเล่นแมทช์กับฝ่ายตรงข้ามคนนั้น ผู้เล่นอาจจะเล่นลูกตามสภาพที่ลูกหยุดอยู่ หรือก่อนที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะตีลูก ผู้เล่นอาจยกเลิกแต้มนั้น และเล่นใหม่จากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้าย (ดูกฎข้อ 20-5) สำหรับการเล่นแมทช์กับคู่แข่งคนอื่น จะต้องเล่นตามสภาพที่ลูกหยุดอยู่
ข้อยกเว้น ลูกกระทบบุคคลซึ่งเฝ้าคันธง - ดูกฎข้อ 17-3
(ฝ่ายตรงข้ามเจตนาทำให้ลูกเฉไป หรือหยุด - ดูกฎข้อ 1-2)
30-3. การเล่นแบบแมทช์เพลย์ประเภทเบสท์บอล และโฟร์บอล
ก. การเป็นตัวแทนของฝ่าย
พาร์ทเน่อร์คนใดคนหนึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของฝ่าย หรือเป็นส่วนหนึ่งของแมทช์ พาร์ทเน่อร์ทุกคนไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่นั้น สำหรับพาร์ทเน่อร์ที่ขาดไป อาจจะเข้ามาร่วมเล่นในระหว่างการเริ่มต้นเล่นในหลุมต่อไป แต่ไม่ใช่เข้ามาร่วมเล่นขณะกำลังเล่นอยู่ในหลุมใดหลุมหนึ่ง
ข. ไม้กอล์ฟไม่เกินสิบสี่อัน
หากพาร์ทเน่อร์คนหนึ่งคนใดละเมิด ฝ่ายนั้นจะต้องถูกปรับโทษตามกฎข้อ 4-4
ค. ลำดับการเล่น
ลำดับการเล่นลูกของฝ่ายเดียวกัน อาจจะเล่นตามลำดับที่ฝ่ายนั้นๆพิจารณาว่าดีที่สุดได้
ง. ลูกผิด
ถ้าผู้เล่นตีลูกผิด ยกเว้นในอุปสรรค ผู้เล่นจะต้องถูกตัดสิทธิ์การเล่นในหลุมนั้น แต่จะไม่ปรับโทษต่อพาร์ทเน่อร์ แม้ว่าลูกที่เล่นผิดเป็นลูกของพาร์ทเน่อร์ก็ตาม ถ้าลูกที่เล่นผิดเป็นของผู้เล่นอีกคนหนึ่ง เจ้าของลูกจะต้องวางลูกตรงจุดที่ได้มีการเล่นลูกผิดในครั้งแรก
จ. ฝ่ายที่ถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
(1) ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน เมื่อพาร์ทเน่อร์ผู้หนึ่งผู้ใดละเมิดกฎข้อใดๆดังต่อไปนี้
กฎข้อ 1-3 - การสมยอมกันเพื่อละเว้นการบังคับใช้ใช้กฎข้อบังคับ
กฎข้อ 4-1 ข้อ 4-2 หรือ ข้อ 4-3 - ไม้กอล์ฟ
กฎข้อ 5-1 หรือ ข้อ 5-2 - ลูกกอล์ฟ
กฎข้อ 6-2ก - แฮนดี้แคป (การเล่นด้วยแฮนดี้แคปที่สูงกว่าความเป็นจริง)
กฎข้อ 6-4 - แคดดี้
กฎข้อ 6-7 - ช้าเกินควร - การเล่นช้า (ละเมิดซ้ำ)
กฎข้อ 14-3 - สิ่งประดิษฐ์แปลกปลอม และอุปกรณ์ผิดปกติ
(2) ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน เมื่อพาร์ทเน่อร์ทุกคนละเมิดกฎข้อใดๆดังต่อไปนี้
กฎข้อ 6-3 - เวลาเริ่มแข่งขัน และกลุ่ม
กฎข้อ 6-8 - การหยุดการเล่น
ฉ. ผลในการปรับโทษอื่นๆ
ถ้าผู้เล่นมีการละเมิดกฎข้อบังคับข้อหนึ่งข้อใดซึ่งไปช่วยเหลือการเล่นของพาร์ทเน่อร์ หรือในทางตรงกันข้าม ไปทำให้เกิดผลกระทบต่อการเล่นของฝ่ายตรงข้าม พาร์ทเน่อร์จะถูกปรับโทษเพิ่มตามกฎข้อบังคับที่สามารถนำมาใช้ได้ รวมกับโทษปรับใดๆที่เกิดขึ้นกับผู้เล่น
ในกรณีอื่นซึ่งผู้เล่นถูกปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อบังคับ การปรับโทษนั้นจะต้องไม่มีผลต่อพาร์ทเน่อร์ของตน ในกรณีที่การปรับโทษระบุให้เป็นแพ้ในหลุมนั้น ผลก็คือจะต้องตัดสิทธิ์เฉพาะผู้เล่นสำหรับหลุมนั้นเท่านั้น
ช. การเล่นแบบแมทช์เพลย์รูปแบบอื่นในเวลาเดียวกัน
ในการเล่นแบบแมทช์เพลย์ ประเภทเบสท์บอล และโฟร์บอล เมื่อมีการเล่นแมทช์รูปแบบอื่นในเวลาเดียวกัน จะต้องใช้กฎข้อบังคับพิเศษดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น