กฏกติกากอล์ฟ - กอล์ฟทิฟ บท 11-20
กฎข้อบังคับในการเล่นกอล์ฟ โดยสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา และเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียน กอล์ฟ คลับ ออฟ เซ็นต์ แอนดรูวส์
แปล และเรียบเรียงโดย สิทธิพร โรจนศิริ กรรมการกฎข้อบังคับ และมรรยาท สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย Member of R&A Referees School 1993 and 1999 (St. Andrews , Scotland and Member of USGA Slope Rating).
แท่นตั้งที
กฎข้อ 11 แท่นตั้งที
นิยามศัพท์
แท่นตั้งที หมายถึง บริเวณที่เริ่มเล่นของหลุมที่จะเล่น เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวสองช่วงไม้กอล์ฟจากหมุดทีด้านหน้า และความกว้างที่กำหนดโดยขอบด้านนอกของหมุดทีทั้งสอง ให้ถือว่าลูกอยู่นอกเขตแท่นตั้งทีเมื่อทุกส่วนของลูกอยู่นอกเขตแท่นตั้งที
11-1. การตั้งที
ในการเล่นจากแท่นตั้งที ผู้เล่นอาจวางลูกบนพื้นดิน หรือวางลูกบนส่วนของพื้นที่ที่ไม่ราบเรียบที่ผู้เล่นทำขึ้นมาจากพื้นดิน หรือตั้งลูกบนที หรือวางลูกบนกองทราย หรือวางลูกบนวัสดุอื่นเพื่อยกลูกให้ลอยขึ้นเหนือพื้นดิน
ผู้เล่นอาจยืนนอกเขตแท่นตั้งทีเพื่อตีลูกภายในเขตแท่นตั้งทีได้
11-2. หมุดที
ก่อนผู้เล่นตีลูกครั้งแรกจากแท่นตั้งทีของหลุมที่กำลังเล่นอยู่ ให้ถือว่าหมุดทีทั้งสองข้างเป็นสิ่งติดตรึงอยู่กับที่ ถ้าผู้เล่นเคลื่อนย้าย หรือยินยอมให้เคลื่อนย้ายหมุดทีอันหนึ่งอันใดเพื่อหลีกเลี่ยงการกีดขวางต่อท่ายืน หรือการกีดขวางต่อพื้นที่ตั้งใจสวิง หรือการกีดขวางต่อเส้นทางเล่นของตน ในกรณีนี้ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 13-2
11-3. ลูกตกจากทีตั้งลูก
ถ้าลูกที่ยังไม่ได้อยู่ในการเล่นตกจากทีตั้งลูก หรือไม้กอล์ฟของผู้เล่นกระทบลูกตกจากทีตั้งลูกในการจรดลูก ผู้เล่นอาจตั้งลูกบนทีใหม่ได้โดยไม่มีการปรับโทษ แต่ถ้าได้ทำการตีแล้ว ไม่ว่าลูกเคลื่อนที่หรือไม่ก็ตาม ในกรณีนี้ให้นับแต้ม แต่ไม่ถูกปรับโทษ
11-4. การเล่นนอกแท่นตั้งที
ก. การเล่นแบบแมทช์เพลย์
ถ้าผู้เล่นเริ่มต้นเล่นลูกในหลุมหนึ่งหลุมใดนอกแท่นตั้งที ฝ่ายตรงข้ามอาจให้ผู้เล่นยกเลิกการตีนั้นทันทีและให้ผู้เล่นเล่นลูกภายในแท่นตั้งทีใหม่โดยไม่มีการปรับโทษ
ข. การเล่นแบบสโตรคเพลย์
ถ้าผู้เข้าแข่งขันเริ่มต้นเล่นลูกในหลุมหนึ่งหลุมใดนอกเขตแท่นตั้งที ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกปรับโทษสองแต้ม แล้วจะต้องเล่นใหม่ภายในเขตแท่นตั้งที ถ้าผู้เข้าแข่งขันเล่นลูกจากแท่นตั้งทีของหลุมต่อไปโดยไม่แก้ไขความผิดพลาดของตน หรือในกรณีหลุมสุดท้ายของรอบที่เล่น ผู้เล่นเดินลงจากกรีนโดยไม่ประกาศเจตนาที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตน ผู้เล่นจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
แต้มของผู้เข้าแข่งขันที่เล่นลูกจากนอกเขตแท่นตั้งที และแต้มที่เล่นต่อจากนั้น ก่อนการแก้ไขความผิดพลาด ไม่นำไปนับรวมกับแต้มของผู้เล่น
11-5. การเล่นผิดแท่นตั้งที
ให้ใช้ข้อกำหนดของกฎข้อ 11-4
การเล่นลูก
กฎข้อ 12 การค้นหา และการตรวจสอบลูก
นิยามศัพท์
อุปสรรค หมายถึง บังเกอร์ หรืออุปสรรคน้ำ
บังเกอร์ หมายถึง อุปสรรคที่ประกอบด้วยพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ มีลักษณะเป็นหลุมที่ได้ขุดเอาหญ้า หรือดินออกไป แล้วนำทรายหรือสิ่งอื่นที่คล้ายกันมาใส่ไว้แทน พื้นที่ที่มีหญ้าที่ปกคลุมพื้นที่โดยรอบอยู่ภายในบังเกอร์ ไม่ถือว่าเป็นส่วนของบังเกอร์ เขตของบังเกอร์ต่อเนื่องลงไปในแนวตั้งฉากจากพื้น แต่ไม่ต่อเนื่องขึ้นข้างบน ลูกที่ถือว่าอยู่ในบังเกอร์ คือลูกที่อยู่ในบังเกอร์ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับบังเกอร์
อุปสรรคน้ำ หมายถึง ทะเล ทะเลสาบ บ่อน้ำ แม่น้ำ ร่องน้ำ รางระบายน้ำ หรือเส้นทางน้ำไหลเปิดไปสู่ที่อื่น (ไม่ว่ามีน้ำอยู่หรือไม่) และสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
พื้นที่ หรือน้ำทั้งหมดภายในเขตอุปสรรคน้ำ เป็นส่วนของอุปสรรคน้ำ ขอบเขตของอุปสรรคน้ำขยายต่อเนื่องในแนวตั้งฉากกับพื้นทั้งขึ้นและลง สำหรับเสาหลัก และเส้นที่ใช้กำหนดเขตอุปสรรคน้ำอยู่ในอุปสรรคน้ำ เสาหลักดังกล่าวเป็นสิ่งกีดขวาง ลูกอยู่ในอุปสรรคต่อเมื่อลูกทั้งลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับอุปสรรคน้ำ
หมายเหตุ 1 ควรกำหนดเขตอุปสรรคน้ำ (นอกจากอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ด้วยหลัก หรือเส้นสีเหลือง
หมายเหตุ 2 คณะกรรมการอาจออกกฎสนาม ห้ามเล่นในบริเวณที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้เป็นอุปสรรคน้ำ
12-1. การค้นหาลูก การมองเห็นลูก
การค้นหาลูกในบริเวณในสนาม ผู้เล่นอาจสัมผัสหรือแหวกหญ้ายาว พงหญ้า พุ่มไม้ ไม้เตี้ยตามทุ่ง หรือไม้พุ่มที่คล้ายกันได้เท่าที่จำเป็นเพื่อค้นหาลูก และตรวจดูลูกของตน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ไปปรับปรุงสภาพที่ลูกหยุดอยู่ หรือไม่ปรับปรุงพื้นที่ตั้งใจจะสวิง หรือไม่ปรับปรุงเส้นทางเล่นของตน
ผู้เล่นไม่จำเป็นได้สิทธิ์ในการมองเห็นลูกขณะตีลูกของตน
ในอุปสรรค หากเชื่อว่าลูกถูกปกคลุมด้วยลูสอิมเพดิเม้นท์ หรือทราย ผู้เล่นอาจเคลื่อนย้ายออก แล้วควานหาดูด้วยคราด หรือด้วยวิธีอื่น เท่าที่ทำให้สามารถมองเห็นส่วนหนึ่งส่วนใดของลูก ถ้าเคลื่อนย้ายสิ่งที่ปกคลุมลูกอยู่ออกมากเกินไป จะไม่มีการปรับโทษ แต่จะต้องนำกลับเข้าไปปกคลุมไว้ดังเดิม เพื่อให้เห็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกเท่านั้น ถ้าลูกเคลื่อนที่จากการเคลื่อนย้ายสิ่งปกคลุมดังกล่าว ไม่มีการปรับโทษ แต่จะต้องนำลูกกลับไปวางไว้ที่เดิม และหากจำเป็นก็ให้ปกคลุมไว้ดังเดิม ให้ดูกฎข้อ 23 เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์นอกเขตอุปสรรค
ถ้าลูกที่อยู่ในสภาพพื้นที่ผิดปกติเคลื่อนที่โดยบังเอิญระหว่างการค้นหา ให้นำลูกกลับไปวางไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ เว้นแต่ผู้เล่นเลือกปฏิบัติตามกฎข้อ 25-1ข และถ้าผู้เล่นนำลูกกลับไปวางไว้ที่เดิมแล้ว ผู้เล่นก็ยังคงปฏิบัติตามกฎข้อ 25-1ข ถ้าสามารถนำมาใช้ได้
ถ้าเชื่อแน่ว่าลูกอยู่ในน้ำที่เป็นอุปสรรคน้ำ ผู้เล่นอาจจะใช้ไม้กอล์ฟควานหาดู หรือใช้วิธีอื่น หากการทำเช่นนี้ไปทำให้ลูกเคลื่อนที่ ให้วางลูกไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ เว้นแต่ผู้เล่นเลือกปฏิบัติตามกฎข้อ26-1
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 12-1การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
12-2. การตรวจสอบลูก
การเล่นลูกที่ถูกต้อง เป็นความรับผิดชอบของผู้เล่น ผู้เล่นแต่ละคนควรทำเครื่องหมายไว้บนลูกของตนยกเว้นในอุปสรรค ผู้เล่นอาจหยิบลูกที่เชื่อว่าเป็นลูกของตนขึ้นมาเพื่อทำการตรวจสอบดูให้แน่ใจ และทำความสะอาดลูกเท่าที่จำเป็นเพื่อตรวจสอบลูกได้โดยไม่ถูกปรับโทษ ถ้าเป็นลูกของผู้เล่น จะต้องนำกลับมาวางไว้ที่เดิม และก่อนหยิบลูกขึ้นมา ผู้เล่นต้องแจ้งเจตนาของตนต่อฝ่ายตรงข้ามในการเล่นแบบแมทช์เพลย์ หรือแจ้งมาร์คเกอร์ หรือผู้ร่วมแข่งขันในการเล่นแบบสโตรคเพลย์ ให้มีโอกาสเฝ้าดูการหยิบ และการนำกลับไปวางไว้ที่เดิม ถ้าผู้เล่นหยิบลูกโดยไม่แจ้งเจตนาของตนไว้ล่วงหน้า หรือไม่ทำการมาร์คตำแหน่งลูก หรือไม่ให้ฝ่ายตรงข้าม มาร์คเกอร์ หรือผู้ร่วมแข่งขันได้มีโอกาสเฝ้าดูด้วย หรือถ้าผู้เล่นหยิบลูกของตนเพื่อการตรวจสอบในอุปสรรคหรือไปทำความสะอาดลูกเกินความจำเป็นในการตรวจสอบ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และจะต้องนำลูกกลับไปวางไว้ที่เดิม
ถ้าผู้เล่นไม่นำลูกกลับไปวางไว้ที่เดิม ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 20-3ก แต่จะต้องไม่ใช้กฎข้อ 12-2 มาปรับโทษเพิ่มอีก
|
กฎข้อ 13 การเล่นตามสภาพที่ลูกอยู่
นิยามศัพท์
อุปสรรค หมายถึง บังเกอร์ หรืออุปสรรคน้ำ
บังเกอร์ หมายถึง อุปสรรคที่ประกอบด้วยพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ มีลักษณะเป็นหลุมที่ได้ขุดเอาหญ้า หรือดินออกไป แล้วนำทราย หรือสิ่งอื่นที่คล้ายกันมาใส่ไว้แทน พื้นที่ที่มีหญ้าที่ปกคลุมพื้นที่โดยรอบอยู่ภายในบังเกอร์ ไม่ถือว่าเป็นส่วนของบังเกอร์ เขตของบังเกอร์ต่อเนื่องลงไปในแนวตั้งฉากจากพื้น แต่ไม่ต่อเนื่องขึ้นข้างบน ลูกที่ถือว่าอยู่ในบังเกอร์ คือลูกที่อยู่ในบังเกอร์ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับบังเกอร์
อุปสรรคน้ำ หมายถึง ทะเล ทะเลสาบ บ่อน้ำ แม่น้ำ ร่องน้ำ รางระบายน้ำ หรือเส้นทางน้ำไหลเปิดไปสู่ที่อื่น (ไม่ว่ามีน้ำอยู่หรือไม่) และสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
พื้นที่ หรือน้ำทั้งหมดที่อยู่ภายในเขตอุปสรรคน้ำ เป็นส่วนของอุปสรรคน้ำ ขอบเขตของอุปสรรคน้ำขยายต่อเนื่องในแนวตั้งฉากกับพื้นทั้งขึ้นและลง สำหรับเสาหลัก และเส้นที่ใช้กำหนดเขตอุปสรรคน้ำถือว่าอยู่ในอุปสรรคน้ำ เสาหลักดังกล่าวเป็นสิ่งกีดขวาง ลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำเมื่อลูกทั้งลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับอุปสรรคน้ำ
หมายเหตุ 1 ควรกำหนดเขตอุปสรรคน้ำ (นอกจากอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ด้วยหลัก หรือเส้นสีเหลือง
หมายเหตุ 2 คณะกรรมการอาจออกกฎสนาม ห้ามเล่นในบริเวณที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้เป็นอุปสรรคน้ำ
เส้นทางเล่น หมายถึง ทิศทางที่ผู้เล่นต้องการตีให้ลูกของตนไป บวกกับระยะด้านข้างพอควรทั้งสองข้างของทิศทางนั้น เส้นทางเล่นขยายต่อเนื่องขึ้นในแนวตั้งฉากกับพื้น แต่เส้นทางเล่นไม่ต่อเนื่องเลยหลุม
การยืน ประกอบไปด้วย การที่ผู้เล่นได้สืบเท้าทั้งสองเข้าไปยืนอยู่ในตำแหน่งที่เตรียมพร้อมจะตีลูก
13-1. ทั่วไป
จะต้องเล่นลูกตามสภาพที่ลูกอยู่ เว้นแต่กฎข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
(ลูกที่หยุดอยู่ แล้วเคลื่อนที่ – ดูกฎข้อ 18)
13-2. การปรับปรุงสภาพพื้นที่ พื้นที่ที่ตั้งใจเข้าไปยืนหรือสวิง หรือเส้นทางเล่น
เว้นแต่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับ ผู้เล่นจะต้องไม่ปรับปรุง หรือไม่อนุญาตให้ปรับปรุงตำแหน่ง หรือสภาพพื้นที่ที่ลูกของตนอยู่ พื้นที่ที่ตั้งใจเข้าไปยืน หรือพื้นที่สวิงของตน เส้นทางเล่นของตน หรือเส้นทางต่อเนื่องเลยหลุมไปพอควร พื้นที่ที่ผู้เล่นจะทำการดรอป หรือการวางลูก ด้วยการกระทำใดๆดังต่อไปนี้เคลื่อนที่ งอ หรือหักสิ่งใดที่งอก หรือตึดตรึงอยู่ (รวมถึงสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายไม่ได้ และวัสดุที่กำหนดเขตนอกสนาม) สร้าง หรือขจัดพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบ เคลื่อนย้าย หรือกดทราย เศษดิน ก้อนหญ้าที่ปะรอยไดวอท หรือแผ่นหญ้าที่ตัดมาปะ หรือ ปัดน้ำค้าง น้ำค้างแข็ง หรือน้ำ ยกเว้นสิ่งต่อไปนี้ ตามที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าไปทำการยืนตามปกติ ในการตี หรือการเคลื่อนไม้กอล์ฟขึ้นไปเพื่อตีลูก การสร้าง หรือการขจัดพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบบนแท่นตั้งที หรือ การปัดเศษทราย และเศษดินบนกรีน ตามที่อนุญาตไว้ในกฎข้อ 16-1ก หรือการซ่อมแซมความเสียหายดังที่กำหนดไว้ใน
กฎข้อ 16-1ค
อนุโลมให้วางไม้กอล์ฟบนพื้นเพียงเบาๆเท่านั้น และจะต้องไม่กดไม้กอล์ฟลงบนพื้น
ข้อยกเว้น ลูกในอุปสรรค – ดูกฎข้อ 13-4
13-3. การสร้างที่ยืน
ผู้เล่นมีสิทธิ์ที่จะวางเท้าได้อย่างมั่นคงในการเข้าไปทำการยืน แต่ผู้เล่นจะต้องไม่ปรับสภาพที่ยืน
13-4. ลูกในอุปสรรค
เว้นแต่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับ ก่อนทำการตีลูกที่อยู่ในอุปสรรค (ไม่ว่าในบังเกอร์ หรือในอุปสรรคน้ำ) หรือในที่ที่ได้หยิบลูกขึ้นมาจากอุปสรรคเพื่อดรอป หรือวางลูกในอุปสรรค ผู้เล่นจะต้องไม่
ก. ทดสอบสภาพพื้นที่ในอุปสรรค หรือทดสอบที่อื่นใดที่คล้ายกับอุปสรรค
ข. สัมผัสพื้นในอุปสรรค หรือสัมผัสน้ำในอุปสรรคน้ำ ด้วยไม้กอล์ฟ หรือสิ่งอื่นๆ หรือ
ค. สัมผัส หรือเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์ที่อยู่ใน หรือสัมผัสอยู่กับอุปสรรค
ข้อยกเว้น
1. นอกจากว่าไม่เป็นการกระทำเพื่อเป็นการทดสอบอุปสรรค หรือการปรับปรุงสภาพพื้นที่ของลูก จะไม่มีการปรับโทษ ถ้าผู้เล่น (ก) สัมผัสพื้นในอุปสรรค หรือสัมผัสน้ำในอุปสรรคน้ำโดยบังเอิญเพื่อป้องกันการหกล้ม หรือในการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวาง หรือในการวัด หรือในการค้นหาลูกกลับมา หรือในการหยิบลูก หรือในการวางลูก หรือในการนำลูกกลับไปวางที่เดิมภายใต้กฎข้อบังคับ หรือ (ข) วางไม้กอล์ฟของตนในอุปสรรค
2. หลังจากผู้เล่นทำการตีลูกแล้ว ในเวลาใดก็ตาม แคดดี้ของผู้เล่นอาจเกลี่ยทราย หรือเกลี่ยดินในอุปสรรคให้ราบเรียบได้ โดยผู้เล่นไม่จำเป็นต้องอนุญาต เว้นแต่ว่าถ้าลูกยังคงอยู่ในอุปสรรค ผู้เล่นต้องไม่กระทำสิ่งใดเพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่ลูกอยู่ หรือเพื่อช่วยเหลือการเล่นครั้งต่อไปของตนในหลุมนั้น
หมายเหตุ เมื่อใดก็ตาม รวมถึงตอนจรด หรือตอนเคลื่อนไม้กอล์ฟขึ้นเพื่อตีลูก ไม้ของผู้เล่นอาจสัมผัสกับสิ่งกีดขวาง หรือสัมผัสสิ่งปลูกสร้างที่คณะกรรมการประกาศให้เป็นส่วนประกอบของสนาม หรือสัมผัสหญ้า พุ่มไม้ ต้นไม้ หรือสิ่งที่งอกอยู่ได้
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
(การค้นหาลูก – ดูกฎข้อ 12-1
กฎข้อ 14 การตีลูก
นิยามศัพท์
การตี หมายถึง การเคลื่อนไม้กอล์ฟไปข้างหน้า โดยตั้งใจให้กระทบ และทำให้ลูกเคลื่อนที่โดยตรง หากผู้เล่นจงใจตรวจสอบการสวิงไม้กอล์ฟลงมาก่อนหัวไม้กอล์ฟถึงลูก ให้ถือว่าผู้เล่นยังไม่ได้ทำการตี
14-1. การตีลูกอย่างถูกวิธี
ผู้เล่นจะต้องตีลูกอย่างถูกวิธีด้วยหัวของไม้กอล์ฟ และต้องไม่ดัน ไม่ครูด หรือไม่ช้อนลูก
14-2. การช่วยเหลือ
ในขณะทำการตี ผู้เล่นจะต้อง
ก. ไม่รับการช่วยเหลือทางร่างกาย หรือรับการปกป้องจากสิ่งอื่น หรือ
ข. ไม่อนุญาตให้แคดดี้ หรือพาร์ทเน่อร์ของตน หรือแคดดี้ของพาร์เน่อร์ของตนอยู่ในเส้นทางเล่น หรืออยู่ใกล้กับเส้นทางเล่นที่ต่อ
เนื่อง หรือเส้นทางพัตด้านหลังลูก
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 14-1 หรือ –2การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
14-3. สิ่งประดิษฐ์แปลกปลอม และอุปกรณ์พิเศษ
ผู้เล่นที่มีข้อสงสัยว่าการใช้อุปกรณ์ใดอันอาจจะทำให้เกิดการละเมิดกฎข้อ 14-3 หรือไม่ ควรปรึกษา เดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์ แอนดรูวส์
ผู้ผลิตควรส่งตัวอย่างไม้กอล์ฟที่จะทำการผลิตไปยัง เดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์ แอนดรูวส์ เพื่อวินิจฉัยว่าไม้กอล์ฟนั้น เมื่อใช้ระหว่างรอบที่กำหนด จะทำให้ผู้เล่นละเมิดกฎข้อ 14-3 หรือไม่ ไม้กอล์ฟดังกล่าวจะตกเป็นสมบัติของ เดอะ รอแยล แอนด์ เอนเชี่ยน กอล์ฟคลับ ออฟ เซนต์แอนดรูวส์ เพื่อจุดประสงค์ในการอ้างอิงต่อไป ถ้าผู้ผลิตไม่ส่งตัวอย่างก่อนการผลิต และ/หรือก่อนการทำตลาด ให้ถือว่าเป็นการเสี่ยงต่อการวินิจฉัยว่าการใช้ไม้กอล์ฟนั้นๆอาจจะขัดแย้งกับกฎข้อบังคับ
เว้นแต่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับ ผู้เล่นจะต้องไม่ใช้สิ่งประดิษฐ์แปลกปลอม หรืออุปกรณ์ผิดพิเศษระหว่างรอบที่กำหนด
ก. ซึ่งอาจช่วยเหลือการตีลูก หรือช่วยเหลือการเล่นของผู้เล่น หรือ
ข. เพื่อจุดประสงค์ในการประมาณ หรือการวัดระยะทาง หรือสภาพต่างๆอันอาจจะมีผลต่อการเล่นของตน หรือ
ค. อาจช่วยในการจับไม้ ยกเว้น
1. สวมถุงมือธรรมดา
2. ใช้ยางสน แป้ง และสารที่ทำให้แห้ง หรือทำให้ชื้น
3. ใช้ผ้าเช็ดเหงื่อ หรือผ้าเช็ดหน้าพันรอบกริพ
การปรับโทษสำหรับการะเมิดกฎข้อ 14-3ตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
14-4. การตีโดนลูกมากว่าหนึ่งครั้ง
ถ้าไม้ของผู้เล่นตีกระทบลูกมากกว่าหนึ่งครั้งในการตีลูก ผู้เล่นจะต้องนับหนึ่งแต้ม และบวกโทษปรับอีกหนึ่งแต้ม รวมทั้งหมดเป็นสองแต้ม
14-5 การเล่นลูกที่กำลังเคลื่อนที่
ผู้เล่นจะต้องไม่ตีลูกในขณะที่ลูกกำลังเคลื่อนที่
ข้อยกเว้น
ลูกตกจากที่ตั้งที – กฎข้อ 11-3
ตีโดนลูกมากกว่าหนึ่งครั้ง – กฎข้อ 14-4
ลูกกำลังเคลื่อนที่ในน้ำ – กฎข้อ 14-6
เมื่อลูกเริ่มเคลื่อนที่ หลังจากผู้เล่นเริ่มทำการตี หรือหลังจากการเคลื่อนไม้กอล์ฟขึ้นเพื่อการตีลูก ผู้เล่นจะไม่ถูกปรับโทษภายใต้กฎข้อบังคับสำหรับการเล่นลูกที่กำลังเคลื่อนที่ แต่ผู้เล่นจะไม่ได้รับการยกเว้นจากโทษปรับที่เกิดขึ้นภายใต้กฎต่อไปนี้
ลูกที่หยุดอยู่ แล้วเคลื่อนที่โดยผู้เล่น – กฎข้อ 18-2ก
ลูกที่หยุดอยู่ แล้วเคลื่อนที่หลังจากเข้าไปจรด – กฎข้อ 18-2ข
ลูกที่หยุดอยู่ แล้วเคลื่อนที่ หลังจากการสัมผัสลูสอิมเพดิเม้นท์ – กฎข้อ 18-2ค
(เจตนาทำให้ลูกเฉไป หรือหยุดโดยผู้เล่น โดยพาร์ทเน่อร์ หรือโดยแคดดี้ของผู้เล่น ดูกฎข้อ 1-2)
14-6. ลูกกำลังเคลื่อนที่ในน้ำ
ขณะลูกกำลังเคลื่อนที่อยู่ในน้ำที่เป็นอุปสรรคน้ำ ผู้เล่นอาจจะทำการตีได้โดยไม่ถูกปรับโทษ แต่ผู้เล่นต้องไม่ทำให้การตีล่าช้า โดยหวังว่าลม หรือกระแสน้ำจะช่วยปรับปรุงตำแหน่งของลูก ผู้เล่นอาจจะหยิบลูกที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ในอุปสรรคน้ำ และเลือกใช้กฎข้อ 26 แทน
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 14-5 หรือ -6การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
กฎข้อ 15 การเล่นลูกผิด และการใช้ลูกอื่นแทน
นิยามศัพท์
ลูกผิด หมายถึง ลูกอื่นใดก็ตามนอกจากลูกของผู้เล่นซึ่งเป็น
ก. ลูกที่อยู่ในการเล่น
ข. ลูกสำรอง หรือ
ค. ลูกที่สองที่ใช้เล่นภายใต้กฎข้อ 3-3 หรือ กฎข้อ 20-7ข ในการเล่นแบบสโตรคเพลย์
หมายเหตุ ลูกที่อยู่ในการเล่น ให้รวมถึงลูกที่นำมาใช้แทนที่ลูกที่อยู่ในการเล่น ไม่ว่าลูกนั้นได้รับอนุญาตให้นำมาใช้เล่นแทนหรือไม่ก็ตาม
15-1. ทั่วๆไป
ผู้เล่นต้องเล่นจนจบหลุมด้วยลูกที่เล่นจากแท่นตั้งที เว้นแต่กฎข้อบังคับอนุญาตให้ใช้ลูกอื่นแทนได้ ถ้าผู้เล่นนำอีกลูกหนึ่งมาเล่นแทนโดยกฎข้อบังคับไม่อนุญาต ลูกดังกล่าวไม่ใช่ลูกผิด แต่มีสภาพเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น หากผู้เล่นไม่แก้ไขความผิดพลาดตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อ 20-6 ผู้เล่นจะต้องถูกปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น ในการเล่นแบบแมทช์เพลย์ หรือถูกปรับสองแต้ม ในการเล่นแบบสโตรคเพลย์
(การเล่นผิดที่ – ดูกฎข้อ 20-7)
15-2. การเล่นแบบแมทช์เพลย์
ยกเว้นในอุปสรรค ถ้าผู้เล่นตีลูกผิด ผู้เล่นจะต้องถูกปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
ถ้าผู้เล่นตีลูกผิดในอุปสรรค ไม่มีการปรับโทษ และไม่นับแต้มที่เล่นลูกผิดในอุปสรรครวมเข้าไปในแต้มจริงของผู้เล่น ถ้าลูกที่เล่นผิดนั้นเป็นของผู้เล่นอีกคนหนึ่ง เจ้าของลูกจะต้องนำลูกไปวางตรงจุดที่มีการเล่นลูกผิดในครั้งแรก
ยกเว้นในอุปสรรค ถ้าลูกของผู้เล่น และลูกของฝ่ายตรงข้ามสลับกันระหว่างการเล่นในหลุมใดหลุมหนึ่ง ผู้ที่เล่นลูกผิดคนแรกจะต้องถูกปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น หรือหากไม่สามารถทราบได้แน่ชัด ทั้งสองฝ่ายจะต้องเล่นให้จบหลุมด้วยลูกที่สลับกันนั้น
15-3. การเล่นแบบสโตรคเพลย์
ถ้าผู้เข้าแข่งขันตีลูกผิดหนึ่งครั้งหรือหลายครั้ง ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกปรับโทษสองแต้ม นอกจากว่าการตีหนึ่งครั้งหรือหลายครั้งเป็นการตีเมื่อลูกนั้นอยู่ในอุปสรรค ในกรณีนี้จะไม่ถูกปรับโทษ
ผู้เข้าแข่งขันต้องแก้ไขความผิดพลาดด้วยการเล่นลูกที่ถูกต้อง ถ้าไม่แก้ไขความผิดพลาดก่อนตีจากแท่นตั้งทีในหลุมต่อไป หรือในกรณีของหลุมสุดท้ายของรอบที่เล่น ไม่แจ้งเจตนาที่จะแก้ไขความผิดพลาดก่อนลงจากกรีน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
ไม่นับจำนวนแต้มที่ผู้เข้าแข่งขันเล่นลูกผิดเข้าไปในแต้มจริงของผู้เข้าแข่งขัน
ถ้าลูกที่เล่นผิดนั้นเป็นของผู้เล่นอีกคนหนึ่ง เจ้าของลูกจะต้องนำลูกไปวางตรงจุดที่มีการเล่นลูกผิดในครั้งแรก
(พื้นที่ของลูกที่จะวาง หรือจะนำกลับไปวางเปลี่ยนไป – ดูกฎข้อ 20-3ข)
กฎข้อบังคับในการเล่นกอล์ฟ โดยสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา และเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียน กอล์ฟ คลับ ออฟ เซ็นต์ แอนดรูวส์
กรีน
กฎข้อ 16 กรีน
เส้นทางพัต หมายถึง ทิศทางบนกรีนซึ่งผู้เล่นต้องการการตี(พัต)ให้ลูกของตนไป ยกเว้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎข้อ 16-1จ เส้นทางพัตรวมถึงระยะด้านข้างพอควรทั้งสองข้างของทิศทางนั้นและไม่ต่อเนื่องเลยหลุม
ลูกลงหลุมแล้ว เมื่อเข้าไปหยุดนิ่งภายในเส้นรอบวงของหลุม และทุกส่วนของลูกอยู่ต่ำกว่าระดับของปากหลุมลงไป
16-1. ทั่วๆไป
ก. การสัมผัสเส้นทางพัต
ผู้เล่นต้องไม่สัมผัสเส้นทางพัต ยกเว้น
(1) ผู้เล่นอาจเคลื่อนย้ายทราย หรือเศษดินบนกรีน และเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์อื่นๆ ด้วยการหยิบขึ้นหรือปัดไปทางด้าน
ข้างด้วยมือ หรือไม้กอล์ฟโดยไม่กดสิ่งใดๆลงไป
(2) ในการจรดลูก ผู้เล่นอาจวางไม้กอล์ฟหน้าลูกได้โดยไม่กดสิ่งใดๆลงไป
(3) ในการวัดระยะ – กฎข้อ 10-4
(4) ในการหยิบลูก – กฎข้อ 16-1ข
(5) ในการกดที่มาร์คลูกลงไป
(6) ในการซ่อมรอยหลุมเก่า หรือซ่อมรอยลูกตกบนกรีน – กฎข้อ 16-1ค และ
(7) ในการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ออกไป – กฎข้อ 24-1
(การชี้เส้นทางพัตบนกรีน – ดูกฎข้อ 8-2ข)
ข. การหยิบลูก
ผู้เล่นอาจจะหยิบลูกที่อยู่บนกรีน และทำความสะอาดลูกได้ถ้าต้องการ และจะต้องนำลูกที่หยิบขึ้นมานั้นกลับไปวางไว้ตรงจุดเดิมที่ได้หยิบลูกขึ้นมา
ค. การซ่อมรอยของหลุม การซ่อมรอยลูกตก และการซ่อมความเสียหายอื่นๆ
ผู้เล่นอาจซ่อมรอยหลุมเก่า หรือซ่อมความเสียหายบนกรีนที่เกิดจากการกระทบของลูก ไม่ว่าลูกของผู้เล่นอยู่บนกรีนหรือไม่ก็ตาม ถ้าลูก หรือที่มาร์คลูกเคลื่อนที่โดยบังเอิญเนื่องจากการซ่อมดังกล่าว จะต้องนำลูกนั้น หรือนำที่มาร์คลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม โดยไม่มีการปรับโทษ สำหรับความเสียหายอื่นบนกรีนจะต้องไม่ได้รับการซ่อม ถ้าอาจจะเป็นการช่วยเหลือการเล่นต่อไปของผู้เล่นในหลุมนั้น
ง. การทดสอบผิวกรีน
ระหว่างการเล่นในหลุมใดหลุมหนึ่ง ผู้เล่นจะต้องไม่ทดสอบผิวกรีนด้วยการกลิ้งลูก หรือการลูบ หรือการครูดผิวกรีน
จ. การยืนคร่อม หรือการยืนบนเส้นทางพัต
ผู้เล่นจะต้องไม่ทำการตี(พัต)ลูกบนกรีนด้วยการยืนคร่อม หรือวางเท้าข้างใดข้างหนึ่งสัมผัสกับเส้นทางพัต หรือสัมผัสกับเส้นทางด้านหลังลูกที่ต่อเนื่องจากเส้นทางพัตนั้น
ฉ. การตีลูกในขณะที่อีกลูกหนึ่งกำลังเคลื่อนที่
หลังจากตีลูกขึ้นไปอยู่บนกรีนแล้ว ผู้เล่นจะต้องไม่ทำการตีลูกในขณะอีกลูกหนึ่งกำลังเคลื่อนที่อยู่บนกรีน เว้นแต่ถ้าผู้เล่นทำเช่นนั้นเพราะอยู่ในลำดับการเล่นของตน ผู้เล่นจะไม่ถูกปรับโทษ
(การหยิบลูกที่กีดขวางการเล่น หรือช่วยเหลือการเล่นขณะอีกลูกหนึ่งกำลังเคลื่อนที่ – ดูกฎข้อ 22)
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 16-1การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
(ตำแหน่งของแคดดี้ หรือพาร์ทเน่อร์ - ดูกฎข้อ 14-2)
(ผิดกรีน - ดูกฎข้อ 25-3)
16-2 ลูกค้างปากหลุม
เมื่อส่วนใดของลูกค้างอยู่ที่ปากหลุม ให้ผู้เล่นมีเวลาเพียงพอเดินเข้าไปที่หลุมโดยไม่ชักช้า และเพิ่มเวลาให้อีกสิบวินาที เพื่อดูให้แน่ใจว่าลูกหยุดนิ่งแล้วหรือไม่ ถ้าลูกไม่ได้ลงหลุม ให้ถือว่าลูกหยุดนิ่งแล้ว หากลูกลงไปในหลุมหลังจากนั้น ให้ถือว่าผู้เล่นได้ตีลูกลงหลุมแล้วด้วยการตีครั้งสุดท้าย และผู้เล่นจะต้องบวกแต้มปรับโทษหนึ่งแต้มรวมเข้าไปในแต้มของผู้เล่น นอกเหนือจากนั้นจะไม่มีการปรับโทษภายใต้กฎข้อนี้
(การเล่นโดยไม่ชักช้า – ดูกฎข้อ 6-7
ลูกถูกทำให้เคลื่อนที่ เฉไป หรือหยุด
กฎข้อ 18 ลูกที่หยุดอยู่ ถูกทำให้เคลื่อนที่
นิยามศัพท์
ให้ถือว่าลูกได้เคลื่อนที่ ถ้าลูกเคลื่อนจากตำแหน่งเดิม และมาหยุดอยู่ในตำแหน่งใหม่
สิ่งภายนอก หมายถึง สิ่งใดๆที่ไม่ใช่เป็นส่วนของแมทช์แข่งขัน หรือในกรณีของสโตรคเพลย์ ไม่ได้เป็นส่วนของฝ่ายผู้เข้าแข่งขัน สิ่งภายนอก ให้รวมถึงผู้ตัดสิน มาร์คเกอร์ ผู้สังเกตุการณ์ และโฟร์แคคดี้ทั้งลม และน้ำ ไม่ใช่เป็นสิ่งภายนอก
อุปกรณ์ หมายถึง สิ่งใดๆที่ผู้เล่นใช้ สวมใส่ หรือถือไว้ หรือมีไว้สำหรับผู้เล่น ยกเว้น ลูกที่ผู้เล่นได้ใช้เล่นในหลุมที่กำลังเล่นอยู่ และสิ่งเล็กๆ เช่น เหรียญ หรือทีที่ใช้ตั้งลูก เมื่อนำไปใช้มาร์คตำแหน่งลูก หรือนำไปใช้มาร์คระยะพื้นที่ที่ทำการดรอปลูก อุปกรณ์รวมถึงรถกอล์ฟ ไม่ว่าใช้เครื่องยนต์หรือไม่ก็ตาม ถ้าผู้เล่นมากกว่าหนึ่งคนใช้รถดังกล่าวร่วมกัน ให้ถือว่าทั้งรถและของทุกอย่างที่อยู่ในนั้นเป็นอุปกรณ์ของผู้เล่นซึ่งเป็นเจ้าของลูกที่กำลังเล่นลูกอยู่ ยกเว้น เมื่อรถที่ใช้ร่วมกันขับเคลื่อนโดยผู้เล่นคนหนึ่งคนใด ให้ถือว่าทั้งรถ และของทุกอย่างที่อยู่บนรถเป็นอุปกรณ์ของผู้เล่นคนนั้น
หมายเหตุ ลูกที่ใช้เล่นในหลุมที่กำลังเล่นอยู่ กลายเป็นอุปกรณ์ต่อได้ถูกหยิบขึ้น และยังไม่ถูกนำกลับเข้าไปเล่นต่อ
ผู้เล่นได้ จรดลูกแล้ว เมื่อผู้เล่นได้เข้าไปยืน และได้จรดไม้กอล์ฟ ยกเว้นในอุปสรรค ผู้เล่นได้จรดลูกแล้ว เมื่อผู้เล่นเข้าไปทำการยืน
การเข้าไปทำการยืน ประกอบไปด้วย การที่ผู้เล่นได้สืบเท้าทั้งสองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่เตรียมพร้อมจะตีลูก
18-1. โดยสิ่งภายนอก
ถ้าลูกที่หยุดอยู่ แล้วถูกทำให้เคลื่อนที่โดยสิ่งภายนอก ผู้เล่นไม่ถูกปรับโทษ และจะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมก่อนที่ผู้เล่นทำการตีครั้งต่อไป
(ลูกของผู้เล่นหยุดอยู่ แล้วอีกลูกหนึ่งทำให้เคลื่อนที่ – ดูกฎข้อ 18-5)
18-2. โดยผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ แคดดี้ หรืออุปกรณ์
ก. ทั่วๆไป
เมื่อลูกของผู้เล่นเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น และถ้า
(1) ผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ หรือแคดดี้ของคนใดคนหนึ่ง ไปหยิบ หรือไปทำให้ลูกเคลื่อนที่ หรือเจตนาสัมผัสลูก (ยกเว้นสัมผัสด้วยไม้เพื่อทำการจรดลูก) หรือเจตนาทำให้ลูกเคลื่อนที่ ยกเว้นกรณีที่กฎข้อบังคับอนุญาต หรือ
(2) อุปกรณ์ของผู้เล่น หรือของพาร์ทเน่อร์ของตนไปทำให้ลูกเคลื่อนที่
ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และจะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม นอกเสียจากว่าการเคลื่อนที่ของลูกเกิดขึ้นหลังจากผู้เล่นได้เริ่มสวิง และไม่ได้หยุดการสวิงนั้น
ภายใต้กฎข้อบังคับ จะไม่ปรับโทษผู้เล่นถ้าทำให้ลูกเคลื่อนที่โดยบังเอิญในสภาพการณ์ต่อไปนี้
ในการวัดเพื่อให้แน่ใจว่าลูกใดอยู่ไกลหลุมมากกว่ากัน – กฎข้อ 10-4
ในการค้นหาลูกที่ถูกปกคลุมอยู่ในอุปสรรค หรือในสภาพพื้นที่ผิดปกติ - กฎข้อ 12-1
ในการซ่อมรอยหลุมเก่า หรือในการซ่อมรอยลูกตก – กฎข้อ 16-1ค
ในการเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์บนกรีน – กฎข้อ 18-2ค
ในการหยิบลูกขึ้นตามกฎข้อบังคับ – กฎข้อ 20-1
ในการวางลูก หรือในการนำลูกกลับไปวางที่เดิมภายใต้กฎข้อบังคับ – กฎข้อ 20-3ก
ในการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ – กฎข้อ 24-1
ข. ลูกเคลื่อนที่หลังจากการจรดไม้
ถ้าลูกที่อยู่ในการเล่นของผู้เล่น เคลื่อนที่หลังจากผู้เล่นได้จรดลูกแล้ว (นอกจากผลที่เกิดจากการตี) ให้ถือว่าผู้เล่นได้ทำให้ลูกเคลื่อนที่ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และผู้เล่นจะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม นอกจากว่าการเคลื่อนที่ของลูกเกิดขึ้นหลัง
จากผู้เล่นได้เริ่มสวิง และไม่ได้หยุดการสวิงนั้น
ค. ลูกเคลื่อนที่หลังจากสัมผัสลูสอิมเพดิเม้นท์
ถ้าลูกเคลื่อนที่หลังจากผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ หรือแคดดี้ของคนหนึ่งคนใด สัมผัสลูสอิมเพดิเม้นท์ที่อยู่ใกล้กับลูกภายในหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟในบริเวณทั่วพื้นสนาม และก่อนผู้เล่นได้จรดลูก ให้ถือว่าผู้เล่นได้ทำให้ลูกเคลื่อนที่ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และจะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม นอกจากว่าการเคลื่อนที่ของลูกเกิดขึ้นหลังจากผู้เล่นได้เริ่มสวิง และไม่ได้หยุดการสวิงนั้น
ถ้าลูก หรือที่มาร์คลูกเคลื่อนที่จากการเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์ใดๆบนกรีน จะต้องนำลูก หรือที่มาร์คลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม โดยไม่มีการปรับโทษ แต่มีเงื่อนไขว่าการเคลื่อนที่ของลูก และที่มาร์คลูกเกิดจากการเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์โดยตรง นอกเหนือจากนั้น ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้มภายใต้กฎข้อ 18-2ก หรือ 20-1
18-3. โดยฝ่ายตรงข้าม แคดดี้ หรืออุปกรณ์ในการเล่นแบบแมทช์เพลย์
ก. ระหว่างการค้นหา
ในระหว่างการค้นหาลูกของผู้เล่น ถ้าลูกเคลื่อนที่โดยฝ่ายตรงข้าม หรือแคดดี้ หรืออุปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม จะไม่มีการปรับโทษ และจะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม
ข. นอกเหนือจากในระหว่างการค้นหา
นอกเหนือจากในระหว่างการค้นหาลูก ถ้าฝ่ายตรงข้าม หรือแคดดี้ หรืออุปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม สัมผัสลูก หรือทำให้ลูกเคลื่อนที่ ฝ่ายตรงข้ามจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม ยกเว้นกฎข้อบังคับจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และผู้เล่นจะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม
(ลูกถูกทำให้เคลื่อนที่ในการวัดเพื่อดูว่าลูกใดอยู่ไกลหลุมมากกว่ากัน – ดูกฎข้อ 10-4)
(การเล่นลูกผิด - ดูกฎข้อ 15-2)
18-4. โดยผู้ร่วมแข่งขัน แคดดี้ หรืออุปกรณ์ ในการเล่นแบบสโตรคเพลย์
ถ้าลูกของผู้เข้าแข่งขันถูกทำให้เคลื่อนที่โดยผู้ร่วมแข่งขัน แคดดี้ หรืออุปกรณ์ของผู้ร่วมแข่งขัน จะไม่มีการปรับโทษ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม
(การเล่นลูกผิด – ดูกฎข้อ 15-3)
18-5. โดยอีกลูกหนึ่ง
ถ้าลูกที่อยู่ในการเล่นหยุดนิ่งแล้ว ถูกทำให้เคลื่อนที่โดยอีกลูกหนึ่งที่มาจากการตี จะต้องนำลูกที่ถูกทำให้เคลื่อนที่ไปนั้นกลับมาวางไว้ที่เดิม
*การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
*ถ้าผู้เล่นซึ่งจำเป็นต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม ไม่กระทำดังที่กล่าวไว้ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษทั่วไปสำหรับการละเมิดกฎข้อ 18 แต่ไม่มีการปรับโทษเพิ่มอีกภายใต้กฎข้อ 18
หมายเหตุ 1 ถ้าไม่สามารถหาลูกที่จะต้องนำกลับมาวางไว้ที่เดิมมาได้ อาจจะใช้อีกลูกหนึ่งมาแทนได้
หมายเหตุ 2 ถ้าไม่สามารถกำหนดจุดเดิมที่จะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ได้ ให้ดูกฎข้อ 20-
กฎข้อ 19 ลูกที่กำลังเคลื่อนที่ ถูกทำให้เฉไป หรือหยุดลง
นิยามศัพท์
สิ่งภายนอก หมายถึง สิ่งใดๆที่ไม่ใช่เป็นส่วนของแมทช์แข่งขัน หรือในกรณีของสโตรคเพลย์ ไม่ได้เป็นส่วนของฝ่ายผู้เข้าแข่งขัน สิ่งภายนอก ให้รวมถึงผู้ตัดสิน มาร์คเกอร์ ผู้สังเกตุการณ์ และโฟร์แคคดี้ทั้งลม และน้ำ ไม่ใช่เป็นสิ่งภายนอก
อุปกรณ์ หมายถึง สิ่งใดๆที่ผู้เล่นใช้ สวมใส่ หรือถือไว้ หรือมีไว้สำหรับผู้เล่น ยกเว้น ลูกที่ผู้เล่นได้ใช้เล่นในหลุมที่กำลังเล่นอยู่ และสิ่งเล็กๆ เช่น เหรียญ หรือทีที่ใช้ตั้งลูก เมื่อนำไปใช้มาร์คตำแหน่งลูก หรือนำไปใช้มาร์คระยะพื้นที่ที่ทำการดรอปลูก อุปกรณ์รวมถึงรถกอล์ฟ ไม่ว่าใช้เครื่องยนต์หรือไม่ก็ตาม ถ้าผู้เล่นมากกว่าหนึ่งคนใช้รถดังกล่าวร่วมกัน ให้ถือว่าทั้งรถและของทุกอย่างที่อยู่ในนั้นเป็นอุปกรณ์ของผู้เล่นซึ่งเป็นเจ้าของลูกที่กำลังเล่นลูกอยู่ ยกเว้น เมื่อรถที่ใช้ร่วมกันขับเคลื่อนโดยผู้เล่นคนหนึ่งคนใด ให้ถือว่าทั้งรถ และของทุกอย่างที่อยู่บนรถเป็นอุปกรณ์ของผู้เล่นคนนั้น
หมายเหตุ ลูกที่ใช้เล่นในหลุมที่กำลังเล่นอยู่ กลายเป็นอุปกรณ์ต่อได้ถูกหยิบขึ้น และยังไม่ถูกนำกลับเข้าไปเล่นต่อ
19-1. โดยสิ่งภายนอก
ถ้าสิ่งภายนอกทำให้ลูกที่กำลังเคลื่อนที่ เฉไป หรือหยุดโดยบังเอิญ เรียกว่า รับออฟเดอะกรีน ไม่มีการปรับโทษ และจะต้องเล่นลูกตามสภาพที่ลูกอยู่ ยกเว้น
ก. ถ้าลูกที่กำลังเคลื่อนที่หลังจากการตีลูกที่อยู่นอกกรีน เข้ามาหยุดอยู่ใน หรือเข้ามาหยุดอยู่บนสิ่งภายนอกที่กำลังเคลื่อนที่ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ในบริเวณทั่วพื้นสนาม หรือในอุปสรรค ผู้เล่นจะต้องดรอปลูก ส่วนลูกที่เล่นอยู่บนกรีน ผู้เล่นจะต้องวางลูกใกล้เท่าที่เป็นไปได้กับจุดที่สิ่งภายนอกอยู่ ขณะลูกเข้ามาหยุดอยู่ใน หรือเข้ามาหยุดอยู่บนสิ่งนั้น และ
ข. ถ้าลูกที่กำลังเคลื่อนที่หลังจากการพัต(การตี)บนกรีน ถูกทำให้เฉไป หรือเข้ามาหยุดอยู่ใน หรือเข้ามาหยุดอยู่บนสิ่งภายนอกที่กำลังเคลื่อนที่ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ยกเว้น หนอน หรือแมลง จะต้องยกเลิกการตีนั้น และให้นำลูกกลับมาวางที่เดิม แล้วเล่นใหม่
ถ้าไม่สามารถนำลูกนั้นกลับมาได้ อาจจะใช้อีกลูกหนึ่งแทนได้
(ลูกของผู้เล่นถูกทำให้ เฉไป หรือหยุดลง โดยอีกลูกหนึ่ง ดูกฎข้อ – 19-5)
หมายเหตุ ถ้าผู้ตัดสิน หรือคณะกรรมการทราบโดยแน่ชัดว่า สิ่งภายนอกมีเจตนาทำให้ลูกของผู้เล่นเฉไป หรือหยุดลง ให้ใช้กฎข้อ 1-4 ต่อผู้เล่น ถ้าสิ่งภายนอกนั้นเป็นผู้ร่วมแข่งขัน หรือแคดดี้ของผู้ร่วมแข่งขัน ให้ใช้กฎข้อ 1-2 ต่อผู้ร่วมแข่งขันนั้น
19-2. โดยผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ แคดดี้ หรืออุปกรณ์
ก. การเล่นแบบแมทช์เพลย์
ถ้าลูกของผู้เล่นถูกทำให้เฉไป หรือหยุดลง โดยผู้เล่นเอง หรือโดยพาร์ทเน่อร์ หรือโดยแคดดี้ของคนหนึ่งคนใด หรือโดยอุปกรณ์ของตน โดยบังเอิญ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
ข. การเล่นแบบสโตรคเพลย์
ถ้าลูกของผู้เข้าแข่งขันถูกทำให้เฉไป หรือหยุดโดยตนเอง หรือพาร์ทเน่อร์ หรือแคดดี้ หรืออุปกรณ์ของตนโดยบังเอิญ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกปรับสองแต้ม และจะต้องเล่นลูกตามสภาพที่ลูกหยุดอยู่ ยกเว้น เมื่อลูกมาหยุดอยู่ใน หรือหยุดอยู่บนเสื้อผ้า หรืออุปกรณ์ของผู้เล่น หรือของพาร์ทเน่อร์ หรือของแคดดี้ของตน ในบริเวณทั่วพื้นสนาม หรือในอุปสรรค ผู้เข้าแข่งขันจะต้องดรอปลูก หรือถ้าอยู่บนกรีน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องวางลูก ใกล้เท่าที่เป็นไปได้ในจุดที่ลูกเข้ามาหยุดอยู่ใน หรือหยุดอยู่บนสิ่งของนั้น
ข้อยกเว้น ลูกที่ดรอป – ดูกฎข้อ 20-2ก
(ลูกที่ถูกทำให้เฉไป หรือหยุดลง โดยเจตนาของผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ หรือแคดดี้ของตน – ดูกฎข้อ 1-2)
19-3. โดยฝ่ายตรงข้าม แคดดี้ หรืออุปกรณ์ ในการเล่นแบบแมทช์เพลย์
ถ้าลูกของผู้เล่นบังเอิญถูกทำให้เฉไป หรือหยุดลงโดยฝ่ายตรงข้าม โดยแคดดี้ของฝ่ายตรงข้าม หรือโดยอุปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม ผู้เล่นอาจเล่นลูกตามสภาพที่ลูกหยุดอยู่ หรือก่อนการตีของทั้งสองฝ่ายให้ยกเลิกการตีนั้น และเริ่มเล่นใหม่จากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้าย (ดูกฎข้อ 20-5)โดยไม่มีการปรับโทษ
ถ้าลูกได้เข้ามาหยุดอยู่ใน หรือหยุดอยู่บนเสื้อผ้า หรืออุปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม หรือของแคดดี้ของฝ่ายตรงข้าม ในบริเวณทั่วพื้นสนาม หรือในอุปสรรค ผู้เล่นอาจดรอปลูก หรือบนกรีน ให้วางลูกให้ใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้กับที่สิ่งที่ลูกเข้ามาหยุดอยู่ใน หรือหยุดอยู่บนสิ่งนั้น
ข้อยกเว้น ลูกไปกระทบบุคคลซึ่งกำลังเฝ้าคันธง – ดูกฎข้อ 17-3ข
(ลูกถูกทำให้เฉไป หรือหยุดลง โดยเจตนาของฝ่ายตรงข้ามหรือแคดดี้ – ดูกฎข้อ 1-2)
19-4. โดยผู้ร่วมแข่งขัน แคดดี้ หรืออุปกรณ์ ในการเล่นแบบสโตรคเพลย์
ดูกฎข้อ 19-1 กรณีที่ลูกถูกทำให้เฉไปโดยสิ่งภายนอก
19-5. โดยอีกลูกหนึ่ง
ก. ที่หยุดนิ่งอยู่
ถ้าลูกของผู้เล่นที่ตีไป ถูกทำให้เฉไป หรือหยุดลง โดยอีกลูกหนึ่งที่อยู่ในการเล่นและหยุดนิ่งอยู่ ผู้เล่นจะต้องเล่นลูกของตนตามสภาพที่ลูกอยู่
ไม่มีการปรับโทษในการเล่นแบบแมทช์เพลย์ ส่วนในการเล่นแบบสโตรคเพลย์ก็ไม่มีการปรับโทษนอกจากถ้าทั้งสองลูกอยู่บนกรีนก่อนตี ในกรณีนี้ผู้เล่นถูกปรับโทษสองแต้ม
ข. ขณะกำลังเคลื่อนที่
ถ้าลูกของผู้เล่นกำลังเคลื่อนที่หลังจากตีไปแล้ว ถูกทำให้เฉไป หรือหยุด โดยอีกลูกหนึ่งที่กำลังเคลื่อนที่ผู้เล่นจะต้องเล่นลูกของตนตามสภาพที่ลูกหยุดอยู่โดยไม่มีการปรับโทษ นอกจากผู้เล่นไปละเมิดกฎข้อ16-1ฉ ในกรณีเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อดังกล่าว
ข้อยกเว้น ถ้าลูกของผู้เล่นกำลังเคลื่อนที่หลังจากตีไปแล้วบนกรีน และลูกอื่นที่กำลังเคลื่อนที่เป็นสิ่งภายนอก – ดูกฎข้อ 19-1ข
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
สภาพการผ่อนปรน และการปฏิบัติ
กฎข้อ 20 การหยิบลูก การดรอปลูก การวางลูก และการเล่นลูกในที่ผิด
20-1. การหยิบลูก และการมาร์คลูก
การหยิบลูกภายใต้กฎข้อบังคับ อาจจะหยิบได้โดยผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ หรืออีกบุคคลอื่นซึ่งผู้เล่นอนุญาตให้หยิบ ในกรณีเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎข้อบังคับใดๆ
จะต้องทำการมาร์คตำแหน่งลูก ก่อนหยิบลูกภายใต้กฎข้อบังคับที่กำหนดให้นำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม ถ้าไม่มาร์คลูก ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และจะต้องวางลูกไว้ที่เดิม ถ้าไม่วางลูกไว้ที่เดิม ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษทั่วไปสำหรับการละเมิดกฎข้อนี้ แต่จะต้องไม่นำกฎข้อ 20-1 มาใช้ในเพื่อเพิ่มโทษเข้าไปอีก
ถ้าลูก หรือที่มาร์คลูก เคลื่อนที่โดยบังเอิญจากการหยิบลูก หรือจากการมาร์คตำแหน่งลูกภายใต้กฎข้อบังคับ จะต้องนำลูก หรือนำที่มาร์คลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ แต่มีเงื่อนไขว่าการเคลื่อนที่ของลูก หรือการเคลื่อนที่ของที่มาร์คลูกเกิดจากการกระทำเฉพาะในการมาร์คตำแหน่งลูก หรือในการหยิบลูกโดยตรงเท่านั้น มิฉะนั้น ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้มภายใต้กฎข้อนี้ หรือถูกปรับโทษภายใต้กฎข้อ 18-2ก
ข้อยกเว้น ถ้าผู้เล่นถูกปรับโทษที่ไม่กระทำตามกฎข้อ 5-3 หรือ ข้อ 12-2 จะต้องไม่นำกฎข้อ 20-1 มาใช้เพื่อเพิ่มโทษเข้าไปอีก
หมายเหตุ ควรจะมาร์คตำแหน่งลูกที่จะหยิบขึ้นด้วยที่มาร์คลูก ด้วยเหรียญเล็กๆ หรือด้วยสิ่งอื่นที่คล้ายกันให้ติดกับด้านหลังลูก ถ้าที่มาร์คลูกกีดขวางการเล่น การยืน หรือการตี ของผู้เล่นอีกคนหนึ่ง ควรจะมาร์คให้พ้นในระยะหนึ่งช่วงหัวไม้กอล์ฟ หรือในระยะมากกว่าหนึ่งช่วงหัวไม้กอล์ฟไปทางด้านหนึ่งด้านใด
20-2. การดรอปลูก และการดรอปลูกใหม่
ก. โดยใคร และอย่างไร
ลูกที่ดรอปภายใต้กฎข้อบังคับ จะต้องดรอปโดยผู้เล่นเอง ผู้เล่นจะต้องยืนตรง ถือลูกไว้ เหยียดแขนออกไประดับไหล่และดรอปลูก ถ้าบุคคลอื่นเป็นผู้ดรอปลูกให้ หรือดรอปลูกในลักษณะอื่น และไม่ได้มีการแก้ไขความผิดพลาดตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อ 20-6 ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม
ในการดรอป ถ้าลูกสัมผัสผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ หรือแคดดี้ หรืออุปกรณ์ของคนหนึ่งคนใดก่อน หรือหลังจากลูกกระทบพื้นสนาม จะต้องทำการดรอปลูกใหม่โดยไม่เสียแต้ม และไม่จำกัดจำนวนครั้งที่จะต้องดรอปลูกใหม่ในสภาพการณ์เช่นนี้
(การกระทำอันมีผลต่อตำแหน่ง หรือการเคลื่อนที่ของลูก – ดูกฎข้อ 1-2)
ข. ดรอปที่ใด
เมื่อจะต้องดรอปลูกให้ใกล้จุดที่เฉพาะเจาะจงเท่าที่ทำได้ จะต้องดรอปลูกไม่ใกล้หลุมเข้าไปกว่าจุดที่กำหนดนั้นๆ ถ้าผู้เล่นไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัด จะต้องใช้การคาดคะเน
เมื่อดรอปลูก ลูกต้องกระทบพื้นสนามก่อนตรงจุดที่กฎข้อบังคับกำหนดให้ดรอป ถ้าไม่ดรอปลูกเช่นนี้ ให้นำกฎข้อ 20-6 และข้อ 20 –7 มาบังคับใช้
ค. ดรอปใหม่เมื่อใด
ลูกที่ดรอปไปแล้ว จะต้องให้ดรอปใหม่ โดยไม่มีการปรับโทษ ถ้าลูก
(1) กลิ้ง และเข้ามาหยุดอยู่ในอุปสรรค
(2) กลิ้งออกไป และไปหยุดอยู่นอกอุปสรรค
(3) กลิ้ง และขึ้นไปหยุดอยู่บนกรีน
(4) กลิ้ง และออกไปหยุดอยู่นอกสนาม
(5) กลิ้ง และเข้ามาหยุดอยู่ในตำแหน่งที่มีการติดขัดจากสภาพที่ได้รับการผ่อนปรนภายใต้กฎข้อ 24-2 (สิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้) กฎข้อ 25-1 (สภาพพื้นผิดปกติ) กฎข้อ 25-3 (ผิดกรีน) หรือตามกฎสนาม (กฎข้อ 33-8ก) หรือกลิ้งกลับเข้าไปในรอยลูกตกที่หยิบลูกขึ้นได้ภายใต้กฎข้อ 25-2 (ลูกจม)
(6) กลิ้งจากจุดที่ลูกกระทบพื้นสนามครั้งแรก ออกไปหยุดไกลกว่าสองช่วงไม้กอล์ฟ(ดูกฎข้อ 20-2ข) หรือ
(7) กลิ้งและเข้าไปหยุดใกล้หลุมกว่า ดังนี้
ก. ตำแหน่งที่ลูกเดิมอยู่ หรือตำแหน่งที่ประมาณไว้ (ดูกฎข้อ 20-2ข) นอกจากกฎข้อบังคับอนุญาตเป็นอย่างอื่น หรือ
ข. จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด หรือการผ่อนปรนมากที่สุดเท่าที่มีให้ (กฎข้อ 24-2 หรือ 25-1 หรือ 25-3) หรือ
ค. จุดสุดท้ายที่ลูกเดิมข้ามขอบของอุปสรรคน้ำ หรืออุปสรรคน้ำด้านข้าง (กฎข้อ 26-1)
ถ้ามีการดรอปลูกใหม่แล้วลูกกลิ้งเข้าไปในตำแหน่งตามที่ระบุข้างต้น จะต้องวางลูกใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ กับจุดที่ลูกกระทบพื้นสนามเมื่อทำการดรอปใหม่
ถ้าไม่สามารถนำลูกเดิมกลับมาดรอปใหม่ หรือไม่สามารถนำลูกเดิมกลับมาวางภายใต้กฎข้อนี้ ก็อาจจะใช้อีกลูกหนึ่งแทนได้
หมายเหตุ เมื่อมีการดรอปลูก หรือมีการดรอปลูกใหม่ และลูกหยุดนิ่งแล้ว ถ้าภายหลังจากนั้น ลูกเคลื่อนที่ จะต้องเล่นตามสภาพที่ลูกอยู่ ยกเว้นกรณีถ้ามีข้อกำหนดในกฎข้อบังคับข้ออื่นใดระบุไว้เป็นอย่างอื่น
20-3. การวางลูก และการนำลูกกลับมาวางที่เดิม
ก. โดยใคร และเมื่อใด
การวางลูกภายใต้กฎข้อบังคับ จะต้องวางโดยผู้เล่น หรือวางโดยพาร์ทเน่อร์ของตน ถ้าเป็นลูกที่จะต้องนำกลับมาวางไว้ที่เดิม ผู้เล่น หรือพาร์ทเน่อร์ของตน หรือผู้ที่หยิบลูก หรือผู้ที่เคลื่อนย้ายลูก จะต้องนำลูกมาวางตรงจุดที่หยิบลูกขึ้นมา หรือนำมาวางตรงจุดที่เคลื่อนย้ายลูกไป ในกรณีเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องรับผิดชอบหากมีการละเมิดกฎข้อบังคับ ถ้าลูก หรือที่มาร์คลูกเคลื่อนที่โดยบังเอิญจากการวางลูก หรือจากการนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม จะต้องนำลูก หรือที่มาร์คลูกนั้นกลับมาวางไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ แต่มีเงื่อนไขว่าการเคลื่อนที่ของลูก หรือการเคลื่อนที่ของที่มาร์คลูกเกิดจากการกระทำเฉพาะในการมาร์คตำแหน่งลูก หรือในการหยิบลูกโดยตรงเท่านั้น มิฉะนั้น ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม ภายใต้กฎข้อ18-2ก หรือ 20-1
ข. สภาพพื้นที่ต้องนำลูกมาวาง หรือนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมได้เปลี่ยนไป
ถ้าสภาพพื้นที่เดิมที่ต้องนำลูกมาวาง หรือนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมได้เปลี่ยนไป
(1) ยกเว้นในอุปสรรค จะต้องวางลูกบนที่ที่มีสภาพพื้นที่คล้ายกับสภาพพื้นที่เดิมมากที่สุด ในระยะที่ไม่มากไปกว่าหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากสภาพพื้นที่เดิม โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าที่เดิม และไม่เข้าไปในอุปสรรค
(2) ในอุปสรรคน้ำ จะต้องวางลูกตาม ข้อ (1) ดังกล่าว เว้นแต่ว่าต้องวางลูกในอุปสรรคน้ำ
(3) ในบังเกอร์ จะต้องปรับแต่งพื้นที่ใหม่ ให้ใกล้เคียงกับสภาพพื้นที่เดิมเท่าที่เป็นไปได้ และจะต้องวางลูกบนพื้นที่นั้น
ค. ไม่สามารถหาจุดวางได้
หากไม่สามารถหาจุดที่จะต้องวางลูก หรือที่จะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมนั้นได้
(1) ทั่วพื้นสนาม จะต้องดรอปลูกใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในจุดเดิมที่ลูกอยู่ แต่ไม่เข้าไปในอุปสรรคหรือไม่ขึ้นไปบนกรีน
(2) ในอุปสรรค จะต้องดรอปลูกในอุปสรรคในจุดที่ใกล้ที่เดิมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
(3) บนกรีน จะต้องวางลูกใกล้ที่เดิมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ไม่เข้าไปในอุปสรรค
ง. ลูกไม่หยุดอยู่กับที่
เมื่อวางลูกแล้ว ถ้าลูกไม่หยุดอยู่กับที่จะวาง จะต้องนำกลับมาวางใหม่ได้โดยไม่มีการปรับโทษ และถ้าลูกยังคงไม่หยุดอยู่ที่จุดนั้น
(1) ยกเว้นในอุปสรรค จะต้องวางลูกตรงจุดที่ใกล้ที่สุดที่สามารถวางลูกให้หยุดนิ่ง โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปและไม่เข้าไปในอุปสรรค
(2) ในอุปสรรค จะต้องวางลูกในอุปสรรคตรงจุดที่ใกล้ที่สุดที่สามารถวางลูกให้หยุดนิ่งได้ โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไป
เมื่อวางลูกหยุดนิ่งที่จุดนั้นแล้ว ถ้าลูกเคลื่อนที่ภายหลังจากนั้น จะไม่มีการปรับโทษ และต้องเล่นลูกตามสภาพที่ลูกอยู่ ยกเว้นถ้ามีข้อกำหนดในกฎข้อบังคับอื่นใดระบุไว้เป็นอย่างอื่น
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 20-1 หรือ 20-2 หรือ 20-3การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
20-4 เมื่อลูกที่ดรอป หรือลูกที่วางเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น
หากมีการหยิบลูกที่อยู่ในการเล่นของผู้เล่นขึ้นมา ลูกจะกลับไปอยู่ในการเล่นอีกครั้งเมื่อดรอปลูก หรือวางลูกแล้ว ลูกที่นำมาใช้แทนที่ กลายมาเป็นลูกที่อยู่ในการเล่นต่อเมื่อได้ดรอปลูก หรือวางลูกแล้ว
(ลูกที่นำมาใช้แทนที่อย่างไม่ถูกต้อง – ดูกฎข้อ 15-1)
(ลูกที่หยิบขึ้น ใช้ลูกอื่นแทนที่ หรือนำมาดรอป หรือมาวางไม่ถูกต้อง – ดูกฎข้อ 20-6)
20-5 การตีครั้งต่อไปจากที่ที่ตีครั้งที่แล้ว
เมื่อผู้เล่นเลือก หรือจำเป็นต้องทำการตีครั้งต่อไปจากที่ที่ตีไปครั้งที่แล้วภายใต้กฎข้อบังคับ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ ถ้าเป็นการเล่นครั้งที่แล้วจากแท่นตั้งที ผู้เล่นจะต้องเล่นจากที่ใดก็ได้ภายในแท่นตั้งที และอาจจะตั้งลูกบนทีก็ได้ หรือถ้าเป็นการเล่นครั้งที่แล้วจากทั่วพื้นสนาม หรือเล่นจากอุปสรรค ผู้เล่นจะต้องดรอปลูก หรือถ้าเป็นการเล่นครั้งที่แล้วบนกรีน ผู้เล่นจะต้องวางลูก
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 20-5การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
20-6 การหยิบลูกขึ้นที่นำไปเปลี่ยน หรือนำไปดรอป หรือนำไปวางอย่างไม่ถูกต้อง
ลูกที่นำไปเปลี่ยนอย่างไม่ถูกต้อง หรือนำไปดรอป หรือนำไปวางผิดที่ หรือไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับแต่ยังไม่ได้เล่น ผู้เล่นอาจจะหยิบขึ้น แล้วผู้เล่นจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยถูกไม่ปรับโทษ
20-7 การเล่นจากผิดที่
สำหรับลูกที่เล่นจากนอกแท่นตั้งที หรือเล่นจากผิดแท่นตั้งที – ดูกฎข้อ 11-4 และ 11-5
ก. การเล่นแบบแมทช์เพลย์
ถ้าผู้เล่นตีลูกที่ได้ดรอป หรือเล่นลูกที่ได้วางผิดที่ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
ข. การเล่นแบบสโตรคเพลย์
ถ้าผู้เข้าแข่งขันเล่นลูกที่อยู่ในการเล่นของตน ซึ่ง (1) ได้ดรอป หรือได้วางในผิดที่ หรือ (2) ได้ถูกทำให้เคลื่อนที่ และไม่นำกลับมาวางไว้ที่เดิมตามที่กฎข้อบังคับระบุต้องให้นำกลับมาวางไว้ที่เดิม ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกปรับโทษตามที่ระบุในกฎข้อบังคับที่สามารถนำมาบังคับใช้ และให้เล่นจบหลุมด้วยลูกนั้น แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีการละเมิดกฎข้อบังคับอย่างร้ายแรง
ภายหลังจากการเล่นในผิดที่ แล้วผู้เข้าแข่งขันได้รับทราบความจริง และเชื่อว่าตนอาจจะกระทำการละเมิดกฎอย่างร้ายแรง ผู้เข้าแข่งขันอาจประกาศขอเล่นใหม่ด้วยลูกที่สองให้จบหลุมนั้นโดยดรอป หรือวางลูกให้ถูกที่ตามกฎข้อบังคับ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้เข้าแข่งขันยังไม่ได้เล่นจากแท่นตั้งทีของหลุมต่อไป หรือลงจากกรีนในกรณีที่เป็นหลุมสุดท้ายของรอบที่เล่น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องรายงานความเป็นจริงต่อคณะกรรมการก่อนส่งสกอร์การ์ด หากผู้เข้าแข่งขันไม่ทำเช่นนี้ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันคณะกรรมการจะต้องสอบสวนว่ามีการละเมิดกฎข้อบังคับอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นดังนั้น จะต้องนับแต้มของลูกที่สอง และผู้เข้าแข่งขันจะต้องบวกแต้มปรับโทษสองแต้มรวมเข้าไปกับแต้มของลูกนั้น
หากมีการละเมิดกฎอย่างร้ายแรง และผู้เข้าแข่งขันไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องดังที่ระบุไว้ข้างต้น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
หมายเหตุ ถ้าผู้เข้าแข่งขันเล่นลูกที่สอง แต้มปรับโทษเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการเล่นลูกที่ได้ใช้กฎข้อบังคับตัดสินไปแล้วว่าไม่นับ ตลอดจนแต้มที่ทำได้หลังจากนั้นด้วยลูกดังกล่าว ให้ถือว่ายกเลิกไป
นิยามศัพท์
กรีน
แปล และเรียบเรียงโดย สิทธิพร โรจนศิริ กรรมการกฎข้อบังคับ และมรรยาท สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย Member of
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น